คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5972-5973/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนำสืบว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เป็นปกติหรือไม่นั้นเป็นการยากที่จะให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนำสืบด้วยประจักษ์พยานเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของคู่ความฝ่ายที่ทำพินัยกรรมเพียงฝ่ายเดียวกรณีจำต้องอาศัยเหตุผลและพฤติการณ์แวดล้อมกรณีรวมทั้งความเป็นพิรุธของตัวเอกสารคือพินัยกรรมนั้นเองเป็นเครื่องชี้ว่าพินัยกรรมฉบับนั้นเจ้ามรดกทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีหรือไม่

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายจินดาและนางลำเจียก หยกมณี ต่อมานางลำเจียกได้แต่งงานอยู่กินกับนายสงวน หยกมณี ซึ่งนายสงวนเป็นสามีนางเล็ก หยกมณี เจ้ามรดก นางเล็กได้ให้ความอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องตลอดมา เมื่อนางเล็กชราภาพลง ผู้ร้องเป็นผู้ดูแลและคอยปรนนิบัติผู้ร้องมาโดยตลอด นางเล็กให้ความไว้วางใจผู้ร้องและมอบหมายให้ผู้ร้องดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของนางเล็กเรื่อยมา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2529 นางเล็กได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องและทายาทโดยไม่ได้ตั้งบุคคลใดให้เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2531 นางเล็กถึงแก่กรรม ผู้ร้องไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินอ้างว่าไม่อาจดำเนินการให้ได้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเสียก่อน การจัดการมรดกจึงมีเหตุขัดข้อง ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็ก หยกมณี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายอี.ดับเบิลยู. ยอร์เก็นเซ็น กับนางเล็ก หยกมณี ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทของนางเล็กแต่เพียงผู้เดียวผู้ร้องไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนางเล็กเจ้ามรดกและนางเล็กได้ทำพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งคือฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531 ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านพินัยกรรมฉบับนี้จึงมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 ที่ผู้ร้องอ้างแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมของนางเล็กอีกต่อไป ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็ก หยกมณี
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางเล็ก หยกมณีกับนายอี.ดับเบิลยู. ยอร์เก็นเซ็น โจทก์เกิดในประเทศไทยแต่ไปศึกษาต่อและทำงานอยู่ในประเทศเดนมาร์ก และเดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมเยียนนางเล็กเป็นประจำ ครั้งสุดท้ายเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2531 และประสงค์จะอยู่ในประเทศไทยกับนางเล็กตลอดไป โจทก์จึงยื่นคำร้องขอคืนสัญชาติไทย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2531 นางเล็กได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ นางเล็กถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2531 ทรัพย์มรดกทั้งหมดจึงตกได้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2531 ฝ่ายจำเลยได้เปิดพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 อ้างว่าเป็นพินัยกรรมของนางเล็กพินัยกรรมฉบับนี้ระบุยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสี่ ดังนั้นเมื่อพินัยกรรมทั้งสองฉบับขัดกัน และเจ้ามรดกไม่ได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นจึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 นั้นถูกเพิกถอนไปแล้วโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531 จำเลยทั้งสี่จึงไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนางเล็กขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531 เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ ชอบด้วยกฎหมายและเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นน้องสาวของนางเล็กหยกมณี อาศัยอยู่บ้านเดียวมาโดยตลอด โจทก์เป็นบุตรของนางเล็ก จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่านางเล็กจะทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 ไว้จริงหรือไม่ แต่นางเล็กเคยพูดอยู่เสมอว่าจะยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่โจทก์แต่เพียงผู้เดียวจึงเชื่อว่านางเล็กได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531ยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์จริง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การว่าไม่รับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของนางอี.ดับเบิลยู.ยอร์เก็นเซ็นกับนางเล็ก หยกมณี โจทก์ไปอยู่ประเทศเดนมาร์กและมีมารดาเป็นชาวต่างประเทศ โจทก์ไม่ใช่บุตรของนางเล็กจึงไม่มีสิทธิตามพินัยกรรม นางเล็กทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529ยกทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลอื่นหลายคนรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เพราะโจทก์เป็นบุคคลอื่นไม่ใช่บุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับลงวันที่7 เมษายน 2531 ไม่สมบูรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว นางเล็กป่วยเจ็บ ร่างกายไม่สมประกอบสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ไม่มีความสามารถที่จะทำพินัยกรรมได้โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิตามพินัยกรรมดังกล่าวได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกนางเบ็ตตี้ ยอห์นชัน ว่าโจทก์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับและเรียกนางสาวลัดดา พรหมเจริญ ว่าจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายของนางเล็ก หยกมณี เจ้ามรดกพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 ถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531 สิ้นผลบังคับ ยกคำร้องขอของจำเลยที่ 4 ที่ขอเป็นผู้จัดการมรดก และอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 และ 1713 แต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็ก หยกมณี ผู้วายชนม์โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่ได้โต้เถียงกันว่า นางเล็ก หยกมณีเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2จำเลยที่ 3 เป็นบุตรของนางลำเจียก หยกมณี กับนายสงวน หยกมณีนางลำเจียกเป็นน้องสาวของนางเล็ก ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบุตรของนางลำเจียกกับนายจินดา พรหมเจริญ โจทก์เป็นบุตรของนางเล็กกับนายอี.ดับเบิลยู.ยอร์เก็นเซ็น บิดาได้พาโจทก์ไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ส่วนนางเล็กมีสามีใหม่คือนายสงวน หยกมณี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2529 นางเล็กทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ล.3 ยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสี่ ประมาณเดือนมกราคม 2531 โจทก์เดินทางกลับมาประเทศไทย และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนสัญชาติไทย โจทก์อ้างว่านางเล็กได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531 ตามเอกสารหมายป.จ.1 มีผลใช้บังคับหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การนำสืบว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เป็นปกติหรือไม่นั้นเป็นการยากที่จะให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนำสืบด้วยประจักษ์พยานเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของคู่ความฝ่ายที่ทำพินัยกรรมเพียงฝ่ายเดียว กรณีจำต้องอาศัยเหตุผลและพฤติการณ์แวดล้อมกรณีรวมทั้งความเป็นพิรุธของตัวเอกสารคือพินัยกรรมนั้นเองเป็นเครื่องชี้ว่าพินัยกรรมฉบับนั้นเจ้ามรดกทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีหรือไม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีตัวจำเลยที่ 4 เบิกความเป็นพยานว่า ในช่วงเวลาที่โจทก์อ้างว่านางเล็กทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ป.จ.1 นั้น นางเล็กมีอาการป่วยเจ็บด้วยอาการโรคสมองเสื่อมเนื่องจากชราภาพ มีความจำเลอะเลือน แขนข้างซ้ายไม่มีแรง ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2530นางเล็กเริ่มมีสุขภาพอ่อนแอ ป่วยเจ็บแขนซ้ายไม่มีแรง ต้องคอยนวดอยู่เสมอ ความจำเลอะเลือน บางครั้งนางเล็กรับประทานอาหารแล้วแต่นางเล็กก็บอกว่ายังไม่ได้รับประทาน จะให้พยานหาอาหารให้รับประทานอีก และเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2531 มีพระซึ่งรู้จักนับถือกันมาเยี่ยม นางเล็กถามว่าใครมา เมื่อพยานบอกว่าพระที่รู้จักกันมาเยี่ยม นางเล็กพูดว่าพระมาหรือเสร็จแล้วก็นอนต่อ หลังจากนั้นไม่นาน นางเล็กก็ถามอีกว่าใครมานอกจากนี้นางเล็กยังมีอาการเชื่องซึม พอเดินได้บ้างแต่ต้องช่วยพยุง สายตาไม่ดี เนื่องจากเป็นต้อกระจก กับมีจำเลยที่ 3เบิกความสนับสนุนว่าตั้งแต่ปลายปี 2530 นางเล็กเริ่มป่วยเจ็บความจำไม่ดีมือซ้ายอ่อนแรงต้องนอนพักอยู่ที่บ้านมีจำเลยที่ 4เป็นผู้ดูแล นางสาวนุชนารถ ดวงพัตรา พยานจำเลยซึ่งพักอาศัยอยู่กับนางเล็กเบิกความว่า ก่อนถึงแก่กรรมประมาณปลายปี 2530นางเล็กความจำไม่ดีและสุขภาพไม่ดี มีอาการเชื่องซึม มือซ้ายไม่ค่อยแข็งแรง พยานจำเลยดังกล่าวพักอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับนางเล็กย่อมรู้เห็นถึงความเป็นไปและสุขภาพของนางเล็กได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังมีนายแพทย์กีรติ เล็กสกุลชัย แพทย์ประจำ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนผู้ทำการตรวจรักษาผู้ตายเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2531 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่อ้างว่านางเล็กทำพินัยกรรมตามเอกสารหมายป.จ.1 ประมาณ 2 เดือน เบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5ว่า คนไข้รายนี้มีอาการสมองเสื่อม ซึ่งหมายความว่าเซลล์สมองตายไปสมองส่วนที่เหลือมีจำนวนน้อย สติความรับรู้จึงมีน้อยกว่าปกติอาการของผู้ป่วยที่แขนด้านซ้ายไม่มีแรงตรวจพบว่ามีอาการสมองเสื่อมอยู่ด้วย จากการตรวจเมื่อปี 2531 พบว่ามีอาการสมองเสื่อม สมองขาดเลือดไปเลี้ยง อาการสมองเสื่อมเช่นนี้เป็นมานานเป็นเดือนหรือเป็นปี เห็นว่า นายแพทย์กีรติพยานจำเลยปากนี้ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด ทราบข้อเท็จจริงโดยการตรวจรักษาและการเอกซ์เรย์สมองของผู้ป่วย และได้เบิกความไปตามหลักวิชาทางการแพทย์ มิใช่เป็นการคาดคะเนเอาดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย คำเบิกความจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ เมื่อนำคำเบิกความของนายแพทย์กีรติตลอดจนรายละเอียดในเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5ดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ดังกล่าวมาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในช่วงระหว่างปี2531 นางเล็กเจ้ามรดกมีอายุถึง 98 ปี นับว่าชรามากเมื่อนางเล็กป่วยเจ็บมีอาการทางสมองเสื่อม ความจำเลอะเลือนเช่นนี้ย่อมทำให้นางเล็กมีสติสัมปชัญญะและความรู้น้อยกว่าปกติไม่น่าเชื่อว่าขณะทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ป.จ.1 นางเล็กจะมีสติสัมปชัญญะและทราบข้อความในพินัยกรรมเป็นอย่างดี ที่โจทก์นำสืบว่าขณะทำพินัยกรรมนางเล็กเจ้ามรดกลงลายพิมพ์นิ้วมือลงในพินัยกรรมขณะที่มีสติสัมปชัญญะดีอยู่นั้น เห็นว่าโจทก์มีพยานที่รู้เห็นขณะที่นางเล็กทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ป.จ.1เพียงสองคน คือ นายภูษิต สงวนสัตย์ กับนายเถลิง มุทิตานันท์แต่บุคคลทั้งสองล้วนแต่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียกับโจทก์หรือมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์มรดก กล่าวคือนายภูษิตซึ่งเป็นผู้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทก็เป็นทนายความของโจทก์ในคดีนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโจทก์โดยตรงการที่นายภูษิตเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถามค้านว่าในวันทำพินัยกรรมนัยตาเจ้ามรดกจะมองเห็นหรือไม่พยานไม่ทราบนั้นแสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ปากนี้มิได้รู้ถึงสภาพร่างกายของเจ้ามรดกว่าเป็นปกติดีหรือไม่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่สังเกตเห็นได้โดยง่ายนอกจากนี้ตามพฤติการณ์ที่นายภูษิตนำกระดาษสมุดฉีกมาเขียนข้อความแทนการพิมพ์ดีดและไม่ได้ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมรวมทั้งระบุชื่อของผู้รับพินัยกรรมผิดพลาดไปจากความเป็นจริงโดยไม่ตรวจสอบให้ถูกต้องเสียก่อน ย่อมบ่งชี้ชัดว่านายภูษิตจัดทำพินัยกรรมในลักษณะเร่งรีบ และการที่ปกปิดไม่ให้ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับเจ้ามรดกรู้เห็นด้วยยิ่งสนับสนุนให้เห็นถึงความผิดปกติในการจัดทำพินัยกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายภูษิตเป็นทนายความย่อมทราบดีว่าการนำบุคคลที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับเจ้ามรดกมาเป็นพยานในพินัยกรรมจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมได้ดีที่สุด แต่นายภูษิตก็หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ ส่วนนายเถลิงพยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมนั้น ก็ปรากฏว่านายเถลิงเป็นผู้เช่าโรงสีที่ตั้งอยู่ในที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก และนายเถลิงอ้างว่าได้ซื้อโรงสีจากนางเล็กแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานการซื้อขายหรือการชำระเงินประการใดทั้งโจทก์เบิกความยอมรับว่าโจทก์ไม่ติดใจในทรัพย์มรดกส่วนนี้จึงถือได้ว่านายเถลิงมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์มรดกนี้โดยตรง และอาจจะได้รับประโยชน์หากพินัยกรรมเอกสารหมายป.จ.1 มีผลบังคับ ดังนั้นคำเบิกความของนายเถลิงพยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ จากพยานหลักฐานที่นำสืบมา ศาลฎีกาเห็นว่าพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ในขณะทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ป.จ.1นางเล็กเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และทราบข้อความในพินัยกรรม พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ป.จ.1 เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 4 ผู้ใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็ก พิเคราะห์แล้ว สำหรับโจทก์นั้นเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็กแล้ว จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ขอให้ศาลฎีกาถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดก คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่าสมควรตั้งจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์หรือไม่ เห็นว่าเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531ตามเอกสารหมาย ป.จ. 1 ไม่มีผลบังคับ กรณีจึงต้องถือว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2529 เอกสารหมาย ล.3 ยังคงมีผลบังคับอยู่ต่อไป ซึ่งตามพินัยกรรมฉบับนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4มีส่วนเป็นผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 จึงมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 4เป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็กได้เช่นกันในการจัดการมรดกนั้นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ที่สำคัญคือการรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเจ้ามรดกมาโดยตลอดและเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินและเอกสารต่าง ๆ ของนางเล็กเจ้ามรดกไว้ ดังนั้น หากตั้งจำเลยที่ 4 ให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์แล้ว ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่การจัดการและรวบรวมทรัพย์มรดกของนางเล็กได้เป็นอย่างมาก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลล้มละลายกรณีจึงสมควรตั้งจำเลยที่ 4 ให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ด้วย แต่เนื่องจากจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเท่านั้น จึงสมควรวางเงื่อนไขสำหรับจำเลยที่ 4 ให้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกเฉพาะที่ระบุในพินัยกรรมฉบับลงวันที่1 ธันวาคม 2529 เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2531ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ไม่มีผลบังคับ และตั้งให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็ก หยกมณี ร่วมกับโจทก์ โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับจำเลยที่ 4 ให้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกเฉพาะที่ระบุในพินัยกรรมฉบับลงวันที่1 ธันวาคม 2529 เท่านั้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share