แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาเช่ารถยนต์บรรทุก 10 ล้อ ข้อ 11.3 และรายละเอียดการเช่าทรัพย์สินกำหนดค่าปรับในกรณีผิดนัดชำระค่าเช่า 123 บาทต่อวัน การที่โจทก์บรรยายฟ้องขอค่าปรับส่วนนี้ตั้งแต่วันผิดนัดชำระค่าเช่าแต่ละงวดถึงวันฟ้องนั้น คำขอของโจทก์ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์สามารถเรียกค่าปรับได้ถึงวันเลิกสัญญาเท่านั้น เนื่องจากเมื่อสัญญาเลิกกันแล้วไม่มีค่าเช่าที่จะชำระให้แก่โจทก์อีก มีแต่ค่าเสียหายเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 10,175,230.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ 2,465,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 5 มีนาคม 2542) จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,421,860 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่ารถยนต์บรรทุก 10 ล้อ รวมเครนปั๊มจากโจทก์ เป็นระยะเวลา 48 เดือน ค่าเช่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนละ 235,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 วางเงินประกันการเช่า 794,392.52 บาท เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เพียง 12 เดือน ผิดนัดชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 13 ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีรถประจำปี จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีรถประจำปีให้แก่โจทก์ วันที่ 17 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าเป็นเช็คให้แก่โจทก์จำนวน 3 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท ปรากฏว่าเช็คเรียกเก็บเงินได้เพียง 1 ฉบับ เป็นเช็คสั่งจ่ายลงวันที่ 19 เมษายน 2541 วันที่ 7 พฤษภาคม 2541 โจทก์มอบให้ทนายความแจ้งให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะยึดหน่วงไม่ยอมส่งป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถประจำปีให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ใช้รถไม่ได้ โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ ค่าเสียหายที่ไม่ได้รับค่าเช่าและค่าปรับฐานผิดสัญญาไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ 13 ซึ่งต้องชำระในเดือนกรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากรถที่เช่าได้ การที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าเป็นเช็คให้แก่โจทก์จำนวน 3 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท แล้วเช็คเรียกเก็บเงินได้ 1 ฉบับ ก็ปรากฏว่าเป็นการชำระค่าเช่าเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 ค้างค่าเช่าเดือนละ 235,000 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 ถึงเดือนเมษายน 2541 การที่โจทก์ยึดหน่วงไม่ยอมส่งป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถประจำปีให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อที่สองมีว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดสูงเกินไปหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า โจทก์ได้รับรถคืนในสภาพเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2541 โจทก์ไม่น่าจะมีความเสียหายมาเรียกค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามค่าเสียหายตลอดอายุสัญญาเช่าที่เหลือไม่ควรเกินกว่า 200,000 บาท และค่าปรับฐานผิดสัญญาไม่ควรเกินกว่า 20,000 บาท นั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งห้ารับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นการรับผิดสำหรับค่าขาดประโยชน์หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์ได้รับรถคืนคือวันที่ 19 กรกฎาคม 2541 จำนวน 475,876 บาท ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกามานั้น จึงไม่ใช่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในค่าเสียหายส่วนนี้อย่างชัดแจ้ง ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งห้ารับผิดชำระค่าเสียหายในส่วนนี้ชอบแล้ว สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับรถคืนจนถึงวันที่สัญญาเช่าครบกำหนดนั้น ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์จำนวน 888,302 บาท โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นเวลารวม 24 เดือน 13 วัน หากคิดเพียง 24 เดือน ก็จะตกเป็นค่าเสียหายเดือนละประมาณ 37,000 บาท เมื่อเทียบกับค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ก่อนที่โจทก์จะได้รับรถคืนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้แก่โจทก์จำนวน 475,876 บาท เป็นเวลา 11 เดือน ก็จะตกเดือนละประมาณ 43,261 บาท เท่ากับน้อยกว่าเดือนละประมาณ 6,261บาท นับว่าเหมาะสมกับสภาพของรถที่เช่า ซึ่งกำหนดค่าเช่ารถไว้ถึงเดือนละ 235,000 บาท ส่วนค่าปรับฐานผิดสัญญาที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 57,682 บาท นั้น เห็นว่า สัญญาเช่ารถยนต์บรรทุก 10 ล้อ 11.3 และรายละเอียดการเช่าทรัพย์สินข้อ 11 กำหนดค่าปรับในกรณีผิดนัดชำระค่าเช่า 123 บาทต่อวัน โจทก์บรรยายฟ้องขอค่าปรับส่วนนี้ตั้งแต่วันผิดชำระค่าเช่าแต่ละงวดถึงวันฟ้อง เช่นนี้ คำขอของโจทก์ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์สามารถเรียกค่าปรับได้ถึงวันเลิกสัญญาเท่านั้น เนื่องจากเมื่อสัญญาเลิกกันแล้วก็ไม่มีค่าเช่าที่จะชำระให้แก่โจทก์อีก มีแต่ค่าเสียหายเท่านั้นศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้โดยวินิจฉัยรวมกับค่าเสียหายส่วนอื่น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์ได้รับค่าเสียหายส่วนอื่นจากจำเลยทั้งห้าแล้วและค่าปรับตามสัญญาเพียงวันละ 123 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้ 57,682 บาท จึงนับว่าสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดให้เพียง 20,000 บาท ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 รวมค่าเสียหายที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 1,384,178 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 วางประกันการเช่าจำนวน 794,392.52 บาท และเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในเดือนเมษายน 2541 และเดือนสิงหาคม 2542 จำนวน 200,000 บาท มาหักออกจากจำนวนเงินที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามที่โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องระบุไว้ชัดเจนว่า โจทก์ได้นำเงินประกันจำนวน 794,392.52 บาท และเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระตามเช็คหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำนวน 100,000 บาท มาหักออก คงเหลือเงินที่จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 10,175,230.81 บาท แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “…เมื่อพิจารณาราคาเช่าตามสัญญาจำนวน 10,542,056.07 บาท โจทก์ได้รับชำระเงินจากจำเลยที่ 1 ทั้งจากเงินวางประกันจำนวน 794,392.52 บาท และค่าเช่าซื้อจำนวน 12 งวด เป็นเงิน 2,635,514.04 บาท รวมเป็นเงิน 3,429,906.56 บาท คงเหลือค่าเช่าตามสัญญาอีกเพียง 7,112,149.51 บาท…” เช่นนี้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ได้นำเงินประกันการเช่าจำนวน 794,392.52 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดแล้วแต่ค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ชำระภายหลังจากฟ้องนั้น ศาลอุธรณ์ไม่ได้นำมาหักแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงต้องนำมาหักให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์จะนำมาหักให้ได้เพียงไรนั้น นายอารยะ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถามค้านยอมรับว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้างเป็นเช็คให้แก่โจทก์ 3 ฉบับ เช็คลำดับ 2 เรียกเก็บเงินได้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้าง 50,000 บาท แก่โจทก์และวันที่ 20 กรกฎาคม 2542 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้างรวมเป็นเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ เช่นนี้ คำเบิกความของนายอารยะจึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่เบิกความว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเช่าให้แก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท เป็นเช็ค 3 ฉบับ เรียกเก็บเงินตามเช็คได้ฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2541 ส่วนอีก 2 ฉบับ จำเลยที่ 1 ระงับการจ่ายเงิน ฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2541 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้างให้แก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท แม้โจทก์ไม่ได้ระบุมาในฟ้องก็ต้องหักเงินจำนวนนี้ออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ สำหรับค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ชำระหลังจากฟ้องคดีนี้นั้น เป็นค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเช็คจำนวน 100,000 บาท โจทก์ บรรยายในคำร้องขอแก้ฟ้องว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาและจำเลยที่ 1 ชำระในคดีดังกล่าว เป็นเรื่องที่โจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้างหลังฟ้องอีก 100,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 200,000 บาท ชอบที่จะนำไปหักกลับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์จำนวน 1,384,178 บาท ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว เมื่อหักแล้วจึงเหลือเงินค่าเสียหายที่จำเลยทั้งห้าต้องร่วมรับผิดชำระให้แก่โจทก์จำนวน 1,184,178 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ไม่หักค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งห้าจำนวน 200,000 บาท นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,184,178 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ