คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3383/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดของจำเลยที่ 5 กระทรวงยุติธรรม ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองจ่าศาลมีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 4 กรมบังคับคดีเป็นกรมหนึ่งในสังกัดของจำเลยที่ 5 มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลอมเอกสารเกี่ยวกับการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทของศาล โดยไม่มีการยึดและขายทอดตลาดกันจริง แล้วร่วมกันปลอมหนังสือและปลอมลายมือชื่อผู้พิพากษาแจ้งไปยังสำนักงานขนส่งให้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันโอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ยึดรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ เนื่องจากรถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวเป็นการหลอกลวงฉ้อโกงโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องโดยเพิ่มเติมคำว่า “และผู้มีชื่ออื่น” ต่อท้ายจำเลยที่ 3 ทุกแห่งก็ตาม ก็ยังไม่อาจจะแปลได้ว่าผู้มีชื่ออื่นนั้นหมายถึง ภ. ที่มีตำแหน่งเป็นรองจ่าศาลประจำศาลในขณะเกิดเหตุอีกคนหนึ่งด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องและจำเลยที่ 5 ไม่ได้ให้การถึง ภ. แต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องร่วมกับ ภ. รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงถึง ภ. ย่อมเป็นการนำสืบนอกประเด็น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำละเมิดซึ่งทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และข้อเท็จจริงดังกล่าวยุติไปแล้วโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกา ย่อมไม่มีทางที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาในประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่โจทก์ฎีกาข้างต้นให้เป็นคุณแก่โจทก์ได้
รถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรอันเป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2499 เจ้าพนักงานตำรวจจึงย่อมมีอำนาจหน้าที่ต้องไปดำเนินการยึดรถยนต์พิพาทมาไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2499 ไม่ว่ารถยนต์ของกลางนั้นจะอยู่ในความครอบครองของผู้ใด การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมที่ไปยึดรถยนต์ของกลางจากโจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 กรมตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ แม้โจทก์จะรับซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ก็ตาม แต่เมื่อรถยนต์พิพาทต้องถูกยึดไปดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2499 โจทก์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าของที่แท้จริงติดตามเอาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. 1332
ตามเอกสารเกี่ยวกับการยึดและขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปยื่นขอจดทะเบียนมีราคาขายทอดตลาดเพียง 200,000 บาท โดยแนบสำเนาภาพถ่ายรถยนต์ไปด้วยแต่รถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 นำไปให้ตรวจสภาพรถและขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์ที่มีสภาพค่อนข้างใหม่และมีราคาสูง จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปขายให้โจทก์ได้ราคาถึง 1,750,000 บาท แสดงว่ามีสภาพแตกต่างจากที่ระบุไว้ดังกล่าวมาก หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 ตรวจสอบเอกสารและตรวจสภาพรถยนต์พิพาทให้ถี่ถ้วนรอบคอบก็จะทราบถึงความแตกต่างของสภาพรถที่นำมาตรวจเพื่อขอจดทะเบียนกับสภาพรถที่ปรากฏในเอกสารได้โดยไม่ยาก และคงไม่รับจดทะเบียน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทที่ซื้อไว้โดยสุจริตจำเลยที่ 6 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน 9 ว – 7266 กรุงเทพมหานคร ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีคืนแก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้เงินจำนวน 1,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องจำนวน 126,215.75 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าเสียหายจำนวน 175,000 บาท และค่าเสียหายวันละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,750,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดจำนวน 875,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 7 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “… ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งรองจ่าศาลประจำศาลจังหวัดมหาสารคาม สังกัดกระทรวงยุติธรรม จำเลยที่ 5 สำนักงานขนส่งจังหวัดปราจีนบุรี สังกัดกรมการขนส่งทางบก จำเลยที่ 6 เจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สังกัดกรมตำรวจ จำเลยที่ 7 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2535 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 ได้รับจดทะเบียนรถยนต์ ยี่ห้อนิสสัน คันพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ได้รับหมายเลขทะเบียน ก – 3245 ปราจีนบุรี ตามสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนและรายการจดทะเบียน ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2535 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งย้ายรถยนต์พิพาทไปยังกรุงเทพมหานคร จดทะเบียนเป็นหมายเลข 9 ว – 7266 กรุงเทพมหานคร ตามสำเนารายการจดทะเบียนรถ ครั้นวันที่ 15 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2536 เจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถได้ยึดรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์โดยอ้างว่ามีผู้ลักลอบนำรถยนต์พิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรและยึดรถยนต์พิพาทไปเป็นของกลาง พนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวสอบสวนแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันนำรถยนต์พิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรแล้วร่วมกับเจ้าหน้าที่ของศาลจังหวัดมหาสารคามและเจ้าหน้าที่ขนส่งจังหวัดปราจีนบุรี ทำปลอมเอกสารเกี่ยวกับการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 445/2530 ของศาลจังหวัดมหาสารคามโดยไม่ได้มีการยึดและขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทกันจริง แล้วได้ปลอมหนังสือของศาลจังหวัดมหาสารคามโดยปลอมลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำศาลจังหวัดมหาสารคามและลายมือชื่อของผู้พิพากษาแจ้งไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อขอให้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันนำรถยนต์พิพาทมาหลอกลวงขายให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยคดีในส่วนของจำเลยที่ 3 นั้น ข้อเท็จจริงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าจำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในคำฟ้องข้อ 2 แล้วว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และผู้มีชื่ออื่น ซึ่งผู้มีชื่ออื่นนั้นหมายถึงนายภาคภูมิ รองจ่าศาลจังหวัดมหาสารคามที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย การนำสืบถึงผู้มีชื่ออื่นของโจทก์จึงเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงตามฟ้องและอยู่ในประเด็น เมื่อนายภาคภูมิกระทำการตามหน้าที่ในฐานะรองจ่าศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดี และทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 5 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองจ่าศาลประจำศาลจังหวัดมหาสารคามในขณะเกิดเหตุ มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำสั่งของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 4 เป็นกรมหนึ่งในสังกัดของจำเลยที่ 5 มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับดคีให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลอมเอกสารเกี่ยวกับการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทของศาลจังหวัดมหาสารคาม โดยไม่มีการยึดและขายทอดตลาดกันจริง แล้วร่วมกันปลอมหนังสือและปลอมลายมือชื่อผู้พิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม แจ้งไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัดปราจีนบุรีให้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันโอนขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถ กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ยึดรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์ เนื่องจากรถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าวเป็นการหลอกลวงฉ้อโกงโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 และที่ 5 ในฐานะผู้บังคับบัญชาและต้นสังกัดของจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 กระทำต่อโจทก์หรือไม่ แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องโดยเพิ่มเติมคำว่า “และผู้มีชื่ออื่น” ต่อท้ายจำเลยที่ 3 ทุกแห่งก็ตาม ก็ยังไม่อาจจะแปลได้ว่าผู้มีชื่ออื่นนั้นหมายถึงนายภาคภูมิ เทพกุศล ที่มีตำแหน่งเป็นรองจ่าศาลประจำศาลจังหวัดมหาสารคาม ในขณะเกิดเหตุอีกคนหนึ่งด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้อง และจำเลยที่ 5 ก็ไม่ได้ให้การถึงนายภาคภูมิแต่อย่างใด จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องร่วมกับนายภาคภูมิ เทพกุศล รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงถึงนายภาคภูมิ เทพกุศล ย่อมเป็นการนำสืบนอกประเด็น เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำละเมิดซึ่งทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และข้อเท็จจริงดังกล่าวยุติไปแล้วโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกา ย่อมไม่มีทางที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาในประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ที่โจทก์ฎีกาข้างต้นให้เป็นคุณแก่โจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อที่สองมีว่า จำเลยที่ 7 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากพ่อค้าในท้องตลาดโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้รถยนต์พิพาทจะนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้เสียภาษีศุลกากร กรมศุลกากรก็ชอบที่จะมีสิทธิติดตามเรียกเก็บภาษีอากรจากผู้นำเข้ารถยนต์พิพาทได้ มิใช่มายึดทรัพย์จากโจทก์ การยึดรถยนต์ไปจากโจทก์ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 7 ในฐานะเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงานตำรวจที่ยึดรถยนต์ไปจากโจทก์จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร อันเป็นการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรเจ้าพนักงานตำรวจจึงย่อมมีอำนาจหน้าที่ต้องไปดำเนินการยึดรถยนต์พิพาทมาไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร ไม่ว่ารถยนต์ของกลางนั้นจะอยู่ในความครอบครองของผู้ใด การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถที่ไปยึดรถยนต์ของกลางจากโจทก์จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 7 หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์ แม้โจทก์จะรับซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตจากพ่อค้าซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ก็ตาม แต่เมื่อรถยนต์พิพาทต้องถูกยึดไปดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร โจทก์ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่ฎีกา เพราะไม่ใช่เป็นกรณีที่เจ้าของที่แท้จริงติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อที่สามมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอยรถยนต์พิพาทได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากพ่อค้าผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ในท้องตลาดโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และโจทก์ได้ครอบครองรถยนต์พิพาทโดยสุจริตจึงชอบที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การที่รถยนต์ของโจทก์ถูกยึดไป เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาท จำเลยทั้งเจ็ดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า รถยนต์พิพาทเป็นรถที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร ซึ่งจะต้องถูกยึดไปดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร และอาจจะต้องถูกริบไปในที่สุด ดังนี้ แม้โจทก์จะซื้อรถยนต์พิพาทมาจากพ่อค้าซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 จะจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์แล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิครอบครองและไม่อาจได้รับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทได้อีกต่อไป จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้สอยในรถยนต์พิพาทภายหลังรถถูกยึดได้ คงเรียกได้แต่ราคารถพร้อมดอกเบี้ยจากผู้ที่หลอกลวงขายรถให้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 6 ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 6 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ร่วมกันนำรถยนต์พิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรแล้วร่วมกันปลอมเอกสารโดยปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นรองจ่าศาลจังหวัดมหาสารคามในฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าได้ยึดรถยนต์ยี่ห้อนิสสันไม่มีหมายเลขทะเบียนไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 445/2530 ของศาลจังหวัดมหาสารคามแล้วทำการขายทอดตลาดรถยนต์ดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 200,000 บาท และปลอมลายมือชื่อผู้พิพากษาแจ้งให้สำนักงานขนส่งจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ 6 จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 คือนายสมชาย ในฐานะนายทะเบียน จ่าสิบตำรวจ ทรงพล ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการขอจดทะเบียน และนายวินัย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์คันที่ขอจดทะเบียน ได้ร่วมกันจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยอาศัยหนังสือของศาลจังหวัดมหาสารคาม ดังกล่าว เห็นว่า ตามหนังสือของศาลจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีเอกสารเกี่ยวกับการยึดและขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 นำมายื่นขอจดทะเบียนรวมอยู่ด้วยระบุไว้ชัดเจนว่ารถยนต์ที่ขายทอดตลาดมีสภาพชำรุดไม่มีป้ายทะเบียน มีราคาที่ขายทอดตลาดเพียง 200,000 บาท ทั้งยังมีสำเนาภาพถ่ายรถยนต์แนบมาด้วย แต่รถยนต์พิพาทที่จำเลยที่ 1 นำมาให้ตรวจสภาพรถและขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์ที่มีสภาพค่อนข้างใหม่และมีราคาสูง ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำไปขายให้แก่โจทก์ได้ราคาถึง 1,750,000 บาท แสดงว่าต้องมีสภาพแตกต่างจากที่ระบุไว้ดังกล่าว มาก ดังนั้น ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 จะได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หากได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวและตรวจสภาพรถยนต์พิพาทให้ถี่ถ้วนรอบคอบก็จะทราบถึงความแตกต่างของสภาพรถที่นำมาตรวจเพื่อขอจดทะเบียนกับสภาพรถที่ปรากฏในเอกสาร ได้โดยไม่ยาก และคงจะไม่รับจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นแน่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 จดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเอกสารและสภาพรถยนต์พิพาทให้รอบคอบ จึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์เนื่องจากทำให้โจทก์ไม่ได้รับกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทที่ซื้อไว้โดยสุจริต จึงเป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ 6 ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นด้วย สำหรับความผิดของจำเลยที่ 6 นั้น เห็นว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้รับประโยชน์จากการขายรถยนต์พิพาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น ดังนั้น ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจึงมิได้เกิดจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 6 เสียทั้งหมด ความเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นราคารถยนต์พิพาทจึงต้องลดลงตามส่วน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกึ่งหนึ่งของราคารถยนต์พิพาทพร้อมดอกเบี้ยนั้นจึงเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 6 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share