คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3518/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลายตาม พระราชบัญญัติ ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 แต่เมื่อที่ดินพิพาทซึ่งผู้ร้องมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์โดยผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเพียงยึดที่ดินได้เท่าที่จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทนั้นทั้งระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 32 ได้กำหนดว่า การที่จะยึดทรัพย์ทั้งหมดกรณีที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของรวมกับบุคคลอื่นนั้นต้องเป็นกรณีที่ไม่ปรากฏว่าส่วนใดเป็นของลูกหนี้แต่เมื่อได้มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนแน่นอนแล้ว แม้ยังมิได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีสิทธิขายทอดตลาดเฉพาะเพียงส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดด้วย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 9776 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขออนุญาตให้ทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดเฉพาะส่วนของผู้ร้องออก แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยกคำร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีคำสั่งให้ขายทอดตลาดทั้งแปลง ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9776 เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9776 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 จำนวน 3 ไร่
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่16 มกราคม 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสี่เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้อายัดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9776 ตำบลหนองผึ้งอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 10 ไร่ ซึ่งผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยผู้ร้องมีส่วน 7 ไร่ จำเลยที่ 2มีส่วน 3 ไร่ และเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดทั้งแปลง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นนี้มีว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายที่ดินพิพาททั้งแปลงหรือไม่ ได้ความจากผู้ร้องและนายปพน สุวรรณภิรมย์พยานผู้ร้องว่า เดิมที่ดินพิพาทมีผู้ร้องนายปพน นางสายทองประอินทร์ และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในปี 2528 ได้มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วนโดยแบ่งแยกเป็นของผู้ร้อง 3 ไร่ ของนายปพน 2 ไร่ ของนางสายทอง2 ไร่ และที่เหลืออีก 3 ไร่เป็นของจำเลยที่ 2 การแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วนครั้งนี้ มีเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกให้ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งเนื้อที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งผู้ร้องนายปพน นางสายทอง และจำเลยที่ 4 บุตรชายจำเลยที่ 2 กับเจ้าพนักงานที่ดินได้ลงชื่อในบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานไว้ การที่จำเลยที่ 4 ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงแบ่งเนื้อที่ที่ดินพิพาทนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ยอมรับข้อเท็จจริงตามที่ทนายผู้ร้องแถลงว่า จำเลยที่ 4 บุตรชายจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 2 ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 12พฤษภาคม 2535 ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาอ้างว่า การแถลงรับของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น เป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารว่ามีลายมือชื่อจำเลยที่ 4 อยู่จริงแต่ไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นการกระทำในฐานะส่วนตัว มิใช่กระทำแทนจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2นั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้แถลงคัดค้านไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเลย แต่กลับยอมรับตามคำแถลงของทนายผู้ร้องว่า จำเลยที่ 4 บุตรชายจำเลยที่ 2ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ร.2 แทนจำเลยที่ 2 เท่ากับยอมรับว่า จำเลยที่ 4 มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนั้น พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาจึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ร้อง นายปพนนางสายทอง และจำเลยที่ 2 ซึ่งมีกรรมสิทธิ์รวมกันได้ตกลงแบ่งแยกเป็นสัดส่วนกันก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกเป็นบุคคลล้มละลายและการที่นายปพนกับนางสายทองขายที่ดินให้ผู้ร้องเมื่อวันที่11 มกราคม 2533 ตามสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย ร.1 ก็เป็นการขายตามสัดส่วนของตนที่แบ่งแยกไว้แน่นอนนั้นแล้ว ผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ในส่วนที่ดินพิพาทเป็นเนื้อที่ 7 ไร่ เป็นที่แน่นอนเช่นกัน หาใช่จำเลยที่ 2 ยังคงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอยู่จำนวน 1,200 ส่วน ใน 4,000 ส่วน โดยไม่สามารถระบุโดยชัดแจ้งว่าที่ดินส่วนใดของที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ดังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกามาแต่อย่างใดไม่ ทั้งข้อตกลงแบ่งแยกที่ดินพิพาทดังกล่าวย่อมผูกมัดเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 3ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แต่เมื่อที่ดินพิพาทมีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์โดยผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิเพียงยึดที่ดินได้เท่าที่จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์อยู่ในที่ดินพิพาทนั้น ทั้งระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีพ.ศ. 2522 ข้อ 32 ตามเอกสารหมาย ร.ค.1 ได้กำหนดว่า การที่จะยึดทรัพย์ทั้งหมดกรณีที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของรวมกับบุคคลอื่นนั้นต้องเป็นกรณีที่ไม่ปรากฏว่าส่วนใดเป็นของลูกหนี้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติดังวินิจฉัยมาข้างต้นว่าได้มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วนแน่นอนแล้วแม้ยังมิได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีสิทธิขายทอดตลาดเฉพาะเพียงส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่มีสิทธิเอาส่วนของผู้ร้องมาขายทอดตลาดด้วยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share