คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว 7 คน แม้จะเป็นการรับรองในวันเดียวกัน พร้อมๆ กัน และมีเจตนาที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนต่างด้าว 7 คน ในเวลาเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำให้แก่คนต่างด้าวแต่ละคน ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวของแต่ละคนและอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 ยกเลิกความในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องว่า จำเลยสนับสนุนในการที่คนต่างด้าวกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และไม่ปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86 มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 264, 267, 268, 83 โดยมิได้ระบุวรรคมาด้วยก็ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 137, 264, 267, 268 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปี และปรับ 210,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากกักขังแทนค่าปรับต้องไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าปัญหาข้อต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว 7 คน เป็นการกระทำหลายกรรมหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองคนต่างด้าว 7 คน แม้จะเป็นการรับรองในวันเดียวกันพร้อม ๆ กัน และมีเจตนาที่จะให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่คนต่างด้าว 7 คน ในเวลาเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยได้กระทำให้แก่คนต่างด้าวแต่ละคน ย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวของแต่ละคนและอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 ยกเลิกความในมาตรา 13 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องว่า จำเลยสนับสนุนในการที่คนต่างด้าวกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 264, 267, 268, 83 โดยมิได้ระบุวรรคมาด้วยก็ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 264 วรรคแรก, 267, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรกและมาตรา 83 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (เดิม)ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share