คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้ตาย จำเลยที่ 2 ยืนอยู่ด้านหลังจำเลยที่ 1 และพูดกับผู้ตายว่า “มึงรู้ไหมว่ากูเป็นใคร กูเป็นตำรวจ กูจะเอาปืนมายิงมึง” แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายด้วย แต่การพูดของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการข่มขู่ให้ผู้ตายเกิดความกลัวไม่กล้าต่อสู้และเป็นการปลุกเร้าให้จำเลยที่ 1 ฮึกเหิมทำร้ายร่างกายผู้ตายต่อไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ไม่เป็นความผิดฐานตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว ศาลฎีกาลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเพราะข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290,83
จำเลยที่ 1 ให้การว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายวุฒิชัยบิดาของนายณัฐพลผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 3 ปี… นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้ตายโดยใช้ขวดสุราตีที่ศีรษะด้านขวา ผลักผู้ตายกระแทกกับกระจกหน้าร้านอาหารคริสตัลจนกระจกแตก และกระทืบบริเวณร่างกายผู้ตายหลายครั้งเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายและถึงแก่ความตายในวันเดียวกันที่โรงพยาบาลเนื่องจากสมองฟกช้ำบวมและระหว่างจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายผู้ตายดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 2 ยืนอยู่ด้านหลังจำเลยที่ 1 และพูดกับผู้ตายว่า “มึงรู้มั้ยว่ากูเป็นใคร กูเป็นตำรวจ กูจะเอาปืนมายิงมึง” เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ร่วมทำร้ายร่างกายผู้ตายด้วยเพราะในขณะนั้นผู้ตายได้รับบาดเจ็บมากไม่อยู่ในภาวะที่จะต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ซึ่งรูปร่างใหญ่กว่าผู้ตายมาก แต่การพูดของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการข่มขู่ให้ผู้ตายเกิดความกลัวไม่กล้าต่อสู้และเป็นการปลุกเร้าให้จำเลยที่ 1 ฮึกเหิมทำร้ายร่างกายผู้ตายต่อไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ไม่เป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเพราะข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 วางโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามมาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 2 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน จนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่รอการลงโทษ และให้จำเลยที่ 2 กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง และห้ามจำเลยที่ 2 เกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมาทุกชนิดในระหว่างที่ถูกคุมความประพฤติตามมาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share