คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6952/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่จัดการและดูแลทรัพย์สินของสถานธนานุเคราะห์ได้ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงในทางพิจารณาปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์สินที่รับจำนำไว้ และมีหน้าที่นำทรัพย์สินมาให้ผู้จำนำไถ่คืน ส่วนจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ผู้จัดการมีหน้าที่รับจำนำและมีหน้าที่ให้การไถ่ถอนทรัพย์สินแก่ประชาชนที่นำทรัพย์สินไปจำนำ ผู้จำนำจะต้องนำทรัพย์สินที่จะจำนำมายื่นให้จำเลยที่ 2ตรวจดูสภาพทรัพย์สินและตีราคา แล้วจำเลยที่ 2 จะเขียนข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินรวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ แล้วส่งให้พนักงานข้อมูลพิมพ์ตั๋วจำนำอันเป็นการยืนยันว่าการตรวจสภาพและตีราคาทรัพย์จำนำ เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ทั้งหลังจากทราบเหตุคดีนี้แล้ว คณะกรรมการสอบสวนได้ทำรายงานสรุปว่าจำเลยที่ 2กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีทุจริตต่อหน้าที่ โดยร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดคนเดียวโดยจำเลยที่ 2 อ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นข้อต่อสู้คดีได้โดยถูกต้อง ดังนั้นข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 2 จึงมิได้หลงต่อสู้คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สถานธนานุเคราะห์เป็นหน่วยงานของกรมประชาสงเคราะห์กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมดำเนินการเกี่ยวกับการรับจำนำทรัพย์สินจากผู้ที่นำมาจำนำ จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานเก็บรักษาของสถานธนานุเคราะห์ 4มีหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์สินที่รับจำนำจากผู้ที่นำมาจำนำจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการสถานธนานุเคราะห์ 4 มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับรับจำนำทรัพย์สินและดูแลรักษาทรัพย์สินของสถานธนานุเคราะห์ 4 เมื่อระหว่างวันที่ 24 เมษายน 2539เวลากลางวัน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยทั้งสองซึ่งมีหน้าที่จัดการและดูแลทรัพย์ของสถานธนานุเคราะห์ 4 ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่ โดยทุจริตนำตั๋วจำนำของสถานธนานุเคราะห์ 4 มากรอกข้อความว่า มีผู้นำสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือทองคำชนิดต่าง ๆ กัน มาจำนำในราคาต่าง ๆ กัน แล้วจำเลยทั้งสองรับเงินตามตั๋วจำนำดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ซึ่งความจริงแล้วไม่มีทรัพย์สินที่นำมาจำนำและบุคคลที่มีชื่อดังกล่าวมิได้นำทรัพย์สินมาจำนำและมิได้รับเงินที่จำนำแต่อย่างใดโดยกระทำครั้งละหลายรายการรวม 56 ครั้ง คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,477,100 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวทำให้สถานธนานุเคราะห์ สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวนดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกกระทงละคนละ 5 ปีสำหรับจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 2 ปี 6 เดือน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม56 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2)

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 เพียงว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ และทำให้จำเลยที่ 2 หลงต่อสู้หรือไม่ ปัญหานี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าตามข้อเท็จจริงในทางพิจารณา จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เป็นผู้ออกตั๋ว แต่ความจริงมีพนักงานอื่นเป็นผู้พิมพ์ตั๋ว และมีพนักงานจ่ายเงินอีกต่างหาก และทุกครั้งที่มีการจำนำก็ต้องมีตัวทรัพย์จำนำ ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 หลงต่อสู้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่จัดการดูแลทรัพย์สินที่รับจำนำไว้ และมีหน้าที่นำทรัพย์สินมาให้ผู้จำนำไถ่คืนโดยเป็นพนักงานประจำสถานธนานุเคราะห์ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ผู้จัดการสถานธนานุเคราะห์ดังกล่าว มีหน้าที่รับจำนำและมีหน้าที่ให้การไถ่ถอนทรัพย์สินแก่ประชาชนที่นำทรัพย์สินไปจำนำด้วย ส่วนวิธีการจำนำนั้น ผู้จำนำจะต้องนำทรัพย์สินที่จะจำนำมายื่นให้แก่ผู้จัดการคือจำเลยที่ 2 เพื่อตรวจดูสภาพทรัพย์สินและตีราคา เมื่อตรวจดูสภาพแล้วผู้จัดการคือจำเลยที่ 2 จะเขียนข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินรวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ แล้วส่งให้พนักงานข้อมูลพิมพ์ตั๋วจำนำ โดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับรูปพรรณของทรัพย์สินที่จำนำ ราคาจำนำและที่อยู่ตามบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จำนำ อันเป็นการยืนยันว่าการตรวจสภาพและตีราคาทรัพย์จำนำ เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ทั้งหลังจากทราบเหตุคดีนี้แล้ว คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งเมื่อคณะกรรมการดังกล่าวสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จแล้วได้ทำรายงานสรุปว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีทุจริตต่อหน้าที่ โดยร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.317ซึ่งจำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำฟ้องคนเดียว จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกระทำด้วย เพราะต้องไปตรวจสุ่มคุณภาพและราคาทรัพย์ของสถานธนานุเคราะห์ต่าง ๆ จำเลยที่ 2 ป่วย ไปทำงานที่สถานธนานุเคราะห์เพียงสัปดาห์ละ 1 ถึง 2 วัน จำเลยที่ 2 ทำงานตามระเบียบทุกอย่างไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 เห็นว่า ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2ได้นำสืบโดยอ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นข้อต่อสู้คดีได้โดยถูกต้อง ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา จึงหาต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 2หาได้หลงต่อสู้คดีดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใดไม่

พิพากษายืน

Share