คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ธรณีสงฆ์นั้นแม้ผู้ใดจะครอบครองมาช้านานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองทั้งนี้ก็เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นแนวเดียวกันตามนัยที่ว่านี้มาแต่เดิม คือพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 มาตรา 7ความว่า ‘ที่วัดก็ดีที่ธรณีสงฆ์ก็ดีเป็นสมบัติทางศาสนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอัครศาสนูปถัมภก ทางปกครองรักษาโดยพระบรมราชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้’ แม้กฎหมายมาตรานี้จะได้ถูกแก้ไขโดย พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2477 ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ได้โดยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะและแม้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีความในมาตรา 41 ว่า ‘ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ’หลักการในเรื่องสิทธิของบุคคลเกี่ยวกับที่วัดก็คงเป็นไปเช่นเดิมคือบุคคลจะอ้างเอาที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยอาศัยอำนาจปกครองโดยปรปักษ์หรือโดยอายุความไม่ได้ทั้งนี้เป็นคนละเรื่องกับปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าที่แปลงใดเป็นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์หรือมิใช่ซึ่งในกรณีนี้จะต้องสืบให้ได้ความชัดฟังได้ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า ที่นาไม่มีโฉนดเนื้อที่ประมาณ2 ไร่เศษ ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรีเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดดาวเรืองโจทก์ จำเลยได้ละเมิดบุกรุกเข้าทำนาในที่ดินของโจทก์ และได้ขอให้เจ้าพนักงานหอทะเบียนที่ดินจังหวัดสระบุรีรังวัดที่ของโจทก์กับที่ซึ่งจำเลยซื้อจากนายเบิ้มรวม 9 ไร่เศษ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรีได้ออกโฉนดที่ 5140 ให้แก่จำเลย ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่ดินตามฟ้องเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดดาวเรืองโจทก์ และให้เพิกถอนโฉนดที่ 5140 เฉพาะที่ทับที่ของโจทก์ 2 ไร่เศษเสีย และขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท

จำเลยต่อสู้หลายประการและต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ของนางคำ ๆ ยกกรรมสิทธิ์ให้จำเลยครอบครองทำกินมาจนบัดนี้ให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่พิพาทว่าเป็นธรณีสงฆ์หรือไม่นั้น โจทก์สืบไม่สม นำสืบคลุม ๆ ว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ โดยมีพยานบอกเล่าเพียงแต่มีคำคัดค้านของศึกษาธิการจังหวัดในตอนออกโฉนดนี้ไม่พอฟังเป็นหลักฐานว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ ส่วนพยานฝ่ายจำเลยฟังได้ว่าจำเลยครอบครองมาอย่างเป็นเจ้าของกว่า 10 ปีย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เบื้องต้นควรวางหลักเสียก่อนว่าที่ธรณีสงฆ์ถึงแม้ผู้ใดจะครอบครองมาช้านานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในการสืบข้อเท็จจริงว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์หรือไม่ต้องอาศัยคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่พอเชื่อถือได้ประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมเป็นสำคัญ ถึงโจทก์สืบไม่ได้ความชัดว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาอย่างไร เพียงแต่นำสืบว่าเป็นที่ของวัดก็เพียงพอแล้วตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 984/2474 ระหว่างพระยาเพ็ชร์พิสัยศรีสวัสดิ์ โจทก์ นายกบ นางเฮือน จำเลย กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไล่จำเลยออกจากที่พิพาท เพิกถอนโฉนดที่ 5140 เฉพาะตอนที่ทับที่พิพาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ในข้อกฎหมายในเบื้องต้นว่าที่ธรณีสงฆ์นั้นถึงแม้ผู้ใดจะครอบครองมาช้านานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ทั้งนี้ก็เพราะมีตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้เป็นแนวเดียวกันตามนัยที่ว่านี้มาแต่เดิม คือพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 มาตรา 7 ความว่า “ที่วัดก็ดีที่ธรณีสงฆ์ก็ดี เป็นสมบัติสำหรับทางศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภก ทรงปกครองรักษาโดยพระบรมราชานุภาพ ผู้ใดผู้หนึ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ที่นั้นไปไม่ได้”แม้กฎหมายมาตรานี้จะได้ถูกแก้ไขโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์ได้โดยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะ และแม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะมีความในมาตรา 41 ว่า “ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์จะโอนกรรมสิทธิ์ได้แต่โดยพระราชบัญญัติ” หลักการในเรื่องสิทธิของบุคคลเกี่ยวกับที่วัดก็คงเป็นไปเช่นเดิมคือบุคคลจะอ้างเอาที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นกรรมสิทธิ์ของตนโดยอาศัยอำนาจปกครองโดยปรปักษ์หรือโดยอาศัยอายุความไม่ได้ ทั้งนี้เป็นคนละเรื่องกับปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า ที่แปลงหนึ่ง ๆ เป็นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์หรือมิใช่ คดีนี้พิพาทกันในปัญหาข้อเท็จจริงคือโจทก์ว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ การที่จำเลยไปขอรังวัดออกโฉนดทับที่พิพาทนี้จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์

ศาลฎีกาเห็นว่าข้อนำสืบของโจทก์เลื่อนลอย ฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ ณ เวลาใด ๆ จำเลยสืบได้ชัดว่าเป็นที่ของนางคำแม่ยายจำเลยและพวกจำเลยได้ปกครองติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยมิได้เสียค่าเช่าให้แก่ผู้ใด จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองดีกว่าบุคคลอื่น ๆ เมื่อจำเลยไปร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนด เจ้าพนักงานได้ไต่สวนแล้วได้ความว่าเป็นที่ว่างเปล่าแม้ศึกษาธิการจังหวัดจะคัดค้านแทนวัดดาวเรือง เจ้าพนักงานที่ดินก็เห็นว่าหลักฐานทางวัดสู้ทางจำเลยไม่ได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้ออกโฉนดสำหรับที่รายพิพาทให้จำเลยรวมไปกับที่ดินซึ่งจำเลยซื้อจากนายเบิ้ม คำพิพากษาฎีกาที่ 984/2474 ที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ คดีนั้นศาลเชื่อว่าที่ที่พิพาทกันเป็นที่ธรณีสงฆ์มาแต่เดิม คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าที่รายพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น

Share