แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันกับอีก 2 คดี โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่โจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวนและโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายทั้งสามสำนวนก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาสำนวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ใช่โจทก์ร่วมในสำนวนคดีนี้ โจทก์ร่วมที่ 3 จะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ไม่ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้กับอีก 2 คดี ดังกล่าวรวมกัน เป็นอำนาจของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 25 ซึ่งเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากจากกัน
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 และ 4250/2546 โดยให้เรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ เรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4250/2546 ว่า จำเลยที่ 6 และเรียกจำเลยในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 7 แต่คดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 12, 15 นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12615/2545 ของศาลชั้นต้นและให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสิบหกรวมจำนวน 28,860,248.50 บาท ตามส่วนที่ผู้เสียหายแต่ละคนถูกฉ้อโกงไป
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 7 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณาของสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 นางยุวาภรณ์ นางบุลภรณ์ นางสาวสินีกาญจน์ และนางสาววนัสริน ผู้เสียหาย ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2543 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 และวันที่ 26 เมษายน 2544 โดยให้เรียกว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก 83 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 การกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อพิจารณาโทษตามที่กฎหมายกำหนดแล้วมีทั้งโทษจำคุกและปรับ โดยกำหนดโทษทั้งทางเสรีภาพและโทษในทางเศรษฐกิจคือโทษปรับ การที่กฎหมายกำหนดโทษทั้งสองประการในความผิดอย่างนี้เพราะว่า กฎหมายต้องการให้เป็นผลทั้งในทางป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นขบวนการตามที่กล่าวไว้ในตอนวินิจฉัยความผิด และผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์ในทางเศรษฐกิจไปจากผู้เสียหายจึงไม่สมควรที่จะลงโทษจำคุกเพียงประการเดียวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 แต่ให้ลงโทษทั้งสองอย่างดังวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษโดยให้จำคุก 8 ปีและปรับ 800,000 บาท หากจำเลยที่ 7 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิให้กักขังแทนค่าปรับเป็นเวลาเกิน 2 ปี ให้จำเลยที่ 7 คืนหรือใช้เงินให้แก่นางยุพิน จำนวน 70,000 บาท นางสาววนัสริน จำนวน 338,599.52 บาท นายบรรพต จำนวน 263,405.50 บาท นายสันติ จำนวน 496,835 บาท นางสาวนิรัชญา จำนวน 283,750 บาท นายชาญวุฒิ จำนวน 270,000 บาท นายสุรพงษ์ จำนวน 199,400 บาท นายพงษ์ศักดิ์ จำนวน 200,000 บาท นางสาวสินีกาญจน์ จำนวน 505,300 บาท นายเกษม(ที่ถูก นายเกษมสุข) จำนวน 234,878 บาท นายชูเกียรติ จำนวน 300,000 บาท นางสาวพรทิพย์ จำนวน 105,000 บาท นายอุทัย จำนวน 596,400 บาท นางยุวาภรณ์ จำนวน 670,670.48 บาท บริษัทไทยอินเตอร์เนชั่นแนล มาร์เบิ้ลแอนด์ แกรนิต จำกัด จำนวน 300,000 บาท และนางบุลภรณ์ จำนวน 23,806,000 บาท นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 7 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12615/2545 ของศาลชั้นต้น ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 คำขอเกินกว่านี้ให้ยกเสีย
โจทก์ร่วมที่ 3 และจำเลยที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 7 ในข้อหาความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 3 ในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 ในสำนวนคดีนี้ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันกับอีก 2 คดี โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่โจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวน และโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายทั้งสามสำนวนก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาสำนวนคดีนี้ซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 7 ต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ใช่โจทก์ร่วมในสำนวนคดีนี้ โจทก์ร่วมที่ 3 จะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ไม่ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้กับอีก 2 คดีดังกล่าวรวมกัน เป็นอำนาจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 25 ซึ่งเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากจากกัน ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 3 ในสำนวนคดีนี้ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมที่ 3 ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ร่วมที่ 3 ที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527
พิพากษายืน