คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีหน้าที่ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคก็เท่ากับว่าผู้บริโภคได้ร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินคดีแทนตน โดยผู้บริโภคมีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดี และหากผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภค มิได้ชำระให้แก่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด ดังนั้น การที่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ย่อมต้องถือว่าผู้บริโภคนั้นเป็นโจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องเอง ส่วนผู้ประกอบการซึ่งถูกฟ้องมีฐานะเป็นจำเลย และทั้งโจทก์และจำเลยย่อมมีฐานะเป็น “คู่ความ” ตามวิเคราะห์ศัพท์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) ดังนี้จำเลยผู้ถูกฟ้องย่อมฟ้องแย้งได้ และเมื่อฟ้องแย้งว่า จำเลยพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ผู้บริโภคเข้าครอบครองอยู่อาศัยมาโดยตลอด ขอให้ผู้บริโภคชำระราคาส่วนที่เหลือจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอจะรวมพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,394,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินครั้งสุดท้าย (วันที่ 18 กันยายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ นางลาวัลย์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้บังคับผู้บริโภครับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์และชำระค่าที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์งวดสุดท้ายจำนวน 5,426,400 บาทและค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น 120,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,546,400 บาท ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากผู้บริโภคไม่ยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ ให้ผู้บริโภคใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพของทาวน์เฮาส์เป็นเงิน 1,440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และให้ผู้บริโภคขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากทาวน์เฮาส์ กับใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าผู้บริโภคจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากทาวน์เฮาส์แล้วเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 135 และ 136 ตำบลทุ่งสองห้อง อำเภอหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ให้แก่นางลาวัลย์ และให้นางลาวัลย์ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 5,426,400 บาท ให้แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หากนางลาวัลย์ชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นในส่วนฟ้องแย้งให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,962,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางลาวัลย์ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของจำเลยก่อนว่า ฟ้องแย้งของจำเลยชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้บริโภคเลือกใช้สิทธิให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยแทนผู้บริโภคแล้ว โจทก์จึงมีฐานะเป็นตัวแทนผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงไม่ใช่บุคคลภายนอกคดี ฟ้องแย้งจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 10 (7) ให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง โดยผู้บริโภคในคดีนี้ได้ดำเนินการร้องขอต่อคณะกรรมการว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้ทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ก็เท่ากับว่าผู้บริโภคได้ร้องขอให้คณะกรรมการดำเนินคดีแทนตน โดยผู้บริโภคเป็นบุคคลผู้มีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดี อีกทั้งในคดีผู้บริโภคหากผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี ศาลก็จะมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง มิได้ให้ชำระหนี้แก่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคผู้ดำเนินคดีแทนแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้มีกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคขึ้นก็เพื่อการดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคเท่านั้นโดยเหตุนี้ กรณีที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคคนใดย่อมต้องถือว่า ผู้บริโภคคนนั้นเป็นโจทก์ผู้ยื่นคำฟ้องนั่นเอง ส่วนผู้ประกอบการซึ่งถูกฟ้องย่อมมีฐานะเป็นจำเลย และทั้งโจทก์และจำเลยย่อมมีฐานะเป็น “คู่ความ” ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) ดังนั้น จำเลยผู้ถูกฟ้องย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องแย้งผู้บริโภคให้รับผิดตามฟ้องแย้งของจำเลยได้ และเมื่อฟ้องแย้งของจำเลยแสดงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยพร้อมที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์พิพาทดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคในวันที่ 1 มีนาคม 2547 แต่ผู้บริโภคไม่ยอมรับโอน ผู้บริโภคจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้บริโภคเข้าอยู่อาศัยมาโดยตลอด จึงขอให้บังคับผู้บริโภครับโอนพร้อมชำระราคาในส่วนที่เหลือในวันโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมที่พอจะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์คดีนี้คือคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนนางลาวัลย์ผู้บริโภคเป็นบุคคลภายนอก มิใช่คู่ความ จำเลยฟ้องแย้งให้บุคคลภายนอกรับผิด จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องแย้งมาโดยไม่ชอบ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยหรือผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 219 วรรคสอง ประกอบพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญากระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค จำเลยจึงไม่อาจบังคับตามฟ้องแย้งได้ และเมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแทนผู้บริโภคแล้ว ย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจะต้องใช้เงินคืนให้แก่ผู้บริโภคตามที่ได้รับไว้
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไปจากผู้บริโภคหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา มีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมและหากมีเงินอันจะต้องใช้คืน ให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้เข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ดังนั้น จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินค่าราคาทาวน์เฮาส์ไปจากผู้บริโภคเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคนับแต่วันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย คือวันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 18 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางลาวัลย์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share