คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6227/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ยกที่ดินให้บุตร คือโจทก์ที่ 2ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองย่อมจะโอนสิทธิครอบครองให้แก่กันได้โดยการมอบการครอบครอง การที่โจทก์ที่ 1และที่ 5 มอบการครอบครองบางส่วนของที่ดินให้โจทก์ที่ 2ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบ และมีอำนาจ ฟ้องให้เปิดทางจำเป็นได้ ที่ดินของโจทก์ทั้งเก้ามีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่ทั้งสี่ด้าน และแม้จะมีทางเดินทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือให้โจทก์ทั้งเก้าใช้เดินออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่โจทก์ทั้งเก้าก็ไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้ทางเดินดังกล่าวได้โดยถาวรถือได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้สำหรับทางที่อยู่ทางทิศตะวันตกจะต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งมีบ้านปลูกอยู่หลายหลังและต้องเดินวกไปวกมาไกลกว่าเดินผ่านทางพิพาท ส่วนทางที่อยู่ทางทิศเหนือก็จะต้องเดินผ่านที่ดินของบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน ทั้งสภาพทางเดินก็ขรุขระ หน้าฝนน้ำจะท่วมทางเดินและเป็นโคลนไม่สามารถเดินผ่านได้สะดวก ส่วนทางพิพาทอยู่ติดกับ ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ทางด้านทิศใต้ เป็นทางตรง อยู่ชิดแนวเขตที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกยาวตลอดแนวเพียง 36 เมตร โดยไม่มีบ้านปลูกขวางอยู่ และโจทก์ทั้งเก้าสามารถใช้ทางพิพาทได้ตลอดทั้งปี ทางพิพาทจึงเป็นทางที่ใกล้ และสะดวกต่อการเดินผ่านของโจทก์ทั้งเก้าออกสู่ทางสาธารณะ และเป็นทางที่พอควรแก่ความจำเป็นของโจทก์ทั้งเก้าและเสียหาย แก่จำเลยน้อยที่สุด ทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นที่จำเลย จะต้องเปิดให้โจทก์ทั้งเก้าเดินผ่านได้ เมื่อปรากฏว่า โจทก์ทั้งเก้าเคยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกวัสดุก่อสร้าง ผ่านทางพิพาท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ทางพิพาท ในปัจจุบันโจทก์ทั้งเก้าจึงมีความจำเป็นต้องใช้ทางพิพาท กว้าง 2 เมตร จำเลยขอให้โจทก์ทั้งเก้าใช้ค่าทดแทนทั้งหมดรวม300,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ทั้งเก้าใช้เพียงคนละ 1,000 บาท ต่อปี แม้จะเป็นเวลาหลายปีโดยไม่ได้กำหนดจำนวนปีที่แน่นอนก็ตาม แต่ในปีต่อ ๆ ไปโจทก์ทั้งเก้าอาจจะมีทางอื่นที่สามารถใช้เดินออกสู่ทางสาธารณะได้สะดวกกว่า และเป็นทางเดินที่ใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จนไม่จำเป็นต้องใช้ทางพิพาท และไม่จำต้องใช้ค่าทดแทนอีกต่อไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนนี้จึงไม่เกินคำขอ แต่การใช้ค่าทดแทนเป็นรายปีอาจจะก่อให้เกิด กรณีพิพาทเกี่ยวกับการผิดนัดไม่ใช้ค่าทดแทนหรือใช้ค่าทดแทน ไม่ตรงตามกำหนดได้ง่าย และเป็นมูลเหตุก่อให้เกิด กรณีพิพาทเกี่ยวกับการใช้ทางพิพาทขึ้นบ่อย ๆ ได้ จึงเห็นควร กำหนดให้โจทก์ทั้งเก้าใช้ค่าทดแทนรวมทั้งหมดในคราวเดียว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งเก้าฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและทางจำเป็น ให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 2 เมตร ยาว 36 เมตรตามแผนที่พิพาทสังเขปท้ายฟ้อง ให้โจทก์ทั้งเก้าและบริวารผ่านเข้าออกถนนสาธารณประโยชน์ได้ตามปกติ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องต่อไป หากไม่ยอมเปิดให้โจทก์ทั้งเก้าดำเนินการเปิดทางพิพาทได้ทันที ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมต่อสำนักงานที่ดินอำเภอเมืองสงขลา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินของจำเลยไม่ได้เป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น โจทก์ทั้งเก้าและบริวารไม่เคยใช้หรือเดินผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะโจทก์ทั้งเก้ามีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะอยู่ก่อนแล้วหลายทาง โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และที่โจทก์ทั้งเก้าขอให้เปิดทางยาว 36 เมตร กว้าง 2 เมตร นั้นเป็นการเกินจำเป็น และหากฟังว่าที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น โจทก์ทั้งเก้าต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยจำนวน 300,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ทั้งเก้าชดใช้ค่าทดแทนค่าใช้ทางจำนวน 300,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ทั้งเก้าให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวเหนือใต้ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องให้โจทก์ทั้งเก้าและบริวารใช้ผ่านเข้าออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์ได้ตามปกติ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งเก้าใช้ค่าทดแทนเป็นรายปีให้แก่จำเลยคนละ 1,000 บาท ต่อปีโดยในงวดแรกให้จ่ายค่าทดแทนคิดตั้งแต่วันเปิดทางจำเป็นนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 โดยให้ชำระภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 สำหรับงวดต่อ ๆ ไป ให้ชำระภายในวันที่ 15 มกราคม ของปีถัดไปทุกปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 76 โจทก์ที่ 5เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 909 และโจทก์ที่ 9 เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 1631 ตามเอกสารหมาย จ.8 จ.9(จ.1) และ จ.10(จ.5) และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารหมาย จ.8 โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารหมาย จ.9
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 มีอำนาจฟ้องให้เปิดทางจำเป็นหรือไม่ เห็นว่านายอรัญ สุวรรณรัตน์บุตรโจทก์ที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ที่ 1 ว่าโจทก์ที่ 1เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เอกสารหมาย จ.8 ยกบางส่วนของที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ปลูกบ้านโจทก์ที่ 5 เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เอกสารหมาย จ.9 เบิกความว่า ตนยกบางส่วนของที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ปลูกบ้าน และจำเลยเบิกความรับเจือสมว่า โจทก์ที่ 1 ยกที่ดินให้ลูก ๆ ปลูกบ้านประมาณ 4 หลังและโจทก์ที่ 5 ยกที่ดินให้ลูก ๆ ปลูกบ้านประมาณ 5 หลัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ยกที่ดินให้ลูกจริงที่ดินที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5 ยกให้ลูก ๆ เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองย่อมจะโอนสิทธิครอบครองให้แก่กันได้โดยการมอบการครอบครอง การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 5 มอบการครอบครองบางส่วนของที่ดินให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบ และมีอำนาจฟ้องให้เปิดทางจำเป็นได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการที่สองว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เห็นว่า ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 และ ล.3 ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเก้ามีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่ทั้งสี่ด้านและแม้จะมีทางเดินทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือให้โจทก์ทั้งเก้าใช้เดินออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่โจทก์ทั้งเก้าก็ไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้ทางเดินดังกล่าวได้โดยถาวร ถือได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งเก้าถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเดินผ่านทางที่อยู่ทางทิศตะวันตกจะต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งมีบ้านปลูกอยู่หลายหลัง และต้องเดินวกไปวกมาระหว่างบ้านของบุคคลอื่นที่ปลูกใกล้ ๆ กัน ดังปรากฏตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 และภาพถ่ายหมาย จ.4 ส่วนทางที่อยู่ทางทิศเหนือจะต้องเดินผ่านที่ดินของบุคคลอื่นเช่นเดียวกันทั้งสภาพทางเดินก็ขรุขระตามภาพถ่ายหมาย จ.6 และโจทก์ทั้งเก้าเบิกความยืนยันตรงกันว่า ทางเดินที่อยู่ทางทิศตะวันตกนอกจากเดินวกไปวกมาระหว่างบ้านของบุคคลอื่นแล้วยังต้องเดินไกลกว่าเดินผ่านทางพิพาทและทางที่อยู่ทางทิศเหนือหน้าฝนน้ำจะท่วมทางเดินและเป็นโคลนไม่สามารถเดินผ่านได้สะดวกจำเลยและนายจูด กำเนิดผล พยานจำเลยก็เบิกความรับในข้อนี้และยังเบิกความรับว่าทางที่อยู่ทางทิศเหนือเจ้าของที่ดินได้ถมดินเกือบทั้งหมดไม่สะดวกแก่การเดินออกสู่ทางสาธารณะส่วนทางพิพาทอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ทางด้านทิศใต้และเป็นทางตรงอยู่ชิดแนวเขตที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกยาวตลอดแนวเพียง 36 เมตร โดยไม่มีบ้านปลูกขวางอยู่และโจทก์ทั้งเก้าสามารถใช้ทางพิพาทได้ตลอดทั้งปี ทางพิพาทจึงเป็นทางที่ใกล้และสะดวกต่อการเดินผ่านของโจทก์ทั้งเก้าออกสู่ทางสาธารณะด้านทิศใต้ได้ยิ่งกว่าการใช้ทางที่อยู่ทางทิศตะวันตกและทางทิศเหนือ ทางพิพาทจึงเป็นทางที่พอควรแก่ความจำเป็นของโจทก์ทั้งเก้าและเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุดทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นที่จำเลยจะต้องเปิดให้โจทก์ทั้งเก้าเดินผ่านได้ และนอกจากโจทก์ทั้งเก้าจะใช้เดินผ่านแล้วโจทก์ทั้งเก้ายังเคยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกวัสดุก่อสร้างผ่านทางพิพาทอีกด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ทางพิพาทในปัจจุบัน โจทก์ทั้งเก้ามีความจำเป็นต้องใช้ทางพิพาทกว้าง 2 เมตร ตลอดแนวทิศเหนือใต้ไปจดทางสาธารณะ
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายว่าโจทก์ทั้งเก้าจะต้องใช้ค่าทดแทนให้จำเลยเพียงใด และปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งเก้าว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้โจทก์ทั้งเก้าใช้ค่าทดแทนคนละ 1,000 บาท ต่อปีนั้นเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า จำเลยขอให้โจทก์ทั้งเก้าใช้ค่าทดแทนทั้งหมดรวม 300,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้โจทก์ทั้งเก้าใช้เพียงคนละ 1,000 บาท ต่อปี แม้จะเป็นเวลาหลายปีโดยไม่ได้กำหนดจำนวนปีที่แน่นอนก็ตาม แต่ในปีต่อ ๆ ไปโจทก์ทั้งเก้าอาจจะมีทางอื่นที่สามารถใช้เดินออกสู่ทางสาธารณะได้สะดวกกว่าและเป็นทางเดินที่ใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จนไม่จำเป็นต้องใช้ทางพิพาทและไม่จำต้องใช้ค่าทดแทนก็ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่วนนี้ จึงไม่เกินคำขอ แต่การใช้ค่าทดแทนเป็นรายปีอาจจะก่อให้เกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับการผิดนัดไม่ใช้ค่าทดแทนหรือใช้ค่าทดแทนไม่ตรงตามกำหนดได้ง่ายและเป็นมูลเหตุก่อให้เกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับการใช้ทางพิพาทขึ้นบ่อย ๆ ได้จึงเห็นควรกำหนดให้โจทก์ทั้งเก้าใช้ค่าทดแทนรวมทั้งหมดในคราวเดียวจำนวน 60,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่จำเลยคราวเดียวจำนวน 60,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share