คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3599/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ด่าว่า ส.ซึ่งเป็นยามขณะที่ส. ปฏิบัติการตามหน้าที่ย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ได้ด่าว่า ส. อีก จึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยยังมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,415 บาท และค่าชดเชย 10,350 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์แสดงกิริยาก้าวร้าว ด่าคำหยาบ ดูหมิ่นเหยียดหยาม และข่มขู่จะให้ผู้อื่นมาทำร้ายพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งโจทก์เคยกระทำมาแล้วและเคยตักเตือนเป็นหนังสือ การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิด ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย10,350 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า หน้าที่ความรับผิดของลูกค้าตามสัญญาจ้างและตามกฎหมายแพ่งนั้นนอกจากลูกจ้างจะมีหน้าที่ทำงานให้แก่นายจ้างแล้ว ลูกจ้างจะต้องทำงานให้ดีเช่นเดียวกับลูกจ้างทั่วไป เรียกว่าความรับผิดชอบในหน้าที่ ถ้าฝ่าฝืนก็จะเป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 บัญญัติไว้ว่า “ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต” ดังนั้น ลูกจ้างจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีในขณะปฏิบัติหน้าที่แม้นายจ้างไม่มีคำสั่ง ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้ ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ต้องถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ด่าว่านายสันติซึ่งเป็นยามขณะที่นายสันติปฏิบัติการตามหน้าที่ตามรายงานฉบับแรกย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้วจำเลยจึงมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ได้ด่าว่านายสันติอีก จึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share