แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง แล้วโจทก์มิได้ไปศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลย เช่นนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นต่อไป ใหม่ได้ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว หากโจทก์มิได้ร้องขอดังกล่าวโจทก์ก็มีสิทธิเสนอคำฟ้องของตนต่อศาลแรงงานกลางใหม่ได้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทุกวันที่ 5 และ 20 ของเดือนเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 13 เดือนสิงหาคม โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ถึงวันที่ 5 ของเดือนถัดไปเป็นเวลา 23 วันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ค่าจ้างเดือนละ ๒,๗๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๘ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนก่อน ทั้งโจทก์ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางครั้งหนึ่งและโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดและจำหน่ายคดีจากสารบบความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์เฉพาะค่าชดเชยให้นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขดำที่ ๕๒๐๕/๒๕๒๘ และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วโจทก์มิได้มาศาลในวันนัดสืบพยานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดในการพิจารณาคดีกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปซึ่งศาลแรงงานกลางมีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ การที่ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความนี้ โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเพิกถอนการจำหน่ายคดีเพื่อให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นต่อไปใหม่ได้ตามนัยที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๑ ซึ่งบทบัญญัติในมาตรานี้เป็นเพียงให้สิทธิโจทก์ที่จะร้องขอเท่านั้น หากโจทก์มิได้ร้องขอก็หามีบทบัญญัติใดตัดสิทธิโจทก์ไว้เป็นประการใดไม่ กรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเสนอคำฟ้องของตนต่อศาลแรงงานกลางได้ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑ บทหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยกำหนดค่าจ้างให้แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ ๒,๗๐๐ บาท และจ่ายให้สิบห้าวันต่อครั้งโจทก์จึงชอบที่จะเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้เพียงสิบห้าวันเป็นเงิน ๑,๓๕๐ บาทเห็นว่า ปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันที่ ๕ และวันที่ ๒๐ ของเดือน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๒๘ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ถึงวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปซึ่งเป็นวันกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๒ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา ๒๓ วัน จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.