คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4927/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือน ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539ทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 38 ไม่มีผลใช้บังคับ จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยคืนค่าชดเชยที่รับมาให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 กรณีดังกล่าวมิใช่จำเลยเอาทรัพย์ของโจทก์มายึดถือไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนได้ตามมาตรา 1336
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินจากผู้ที่ได้ทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน มิใช่ภายในหนึ่งปีนับแต่ผู้เสียหายประสงค์ใช้สิทธิเรียกคืน
สถาบันการบินพลเรือนโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รับทราบหนังสือกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2540 แจ้งว่าข้อบังคับของโจทก์ที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยประกาศใช้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้จำเลยจึงเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับ ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลยตั้งแต่ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 7กรกฎาคม 2543 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกค่าชดเชย คืนดังกล่าวแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีหมายเลขดำที่ 4964/2543 ที่ 4968/2543 ที่ 4972/2543 ที่ 4987/2543 ที่ 4989/2543 และที่ 4991/2543 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกจำเลยเรียงตามลำดับสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 29 ระหว่างการพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 5 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ที่ 24 และที่ 26 ส่วนจำเลยที่ 9 และที่ 28 คู่ความไม่อุทธรณ์คดีจึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะยี่สิบสามสำนวนนี้

โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 มีวัตถุประสงค์ในการจัดดำเนินการผลิตบุคลากรทางด้านการบินและดำเนินกิจการเกี่ยวกับบริการช่างอากาศบริการอากาศยาน และกิจการอื่นเกี่ยวกับการบิน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 โจทก์ได้รับโอนจำเลยทั้งยี่สิบสามซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยกรมการบินพาณิชย์ มาเป็นพนักงานของโจทก์และได้ทำงานอยู่กับโจทก์จนถึงวันที่ 30กันยายน 2536 จึงเกษียณอายุ ขณะนั้นจำเลยแต่ละคนได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายปรากฏตามคำฟ้องแต่ละสำนวน ต่อมาคณะกรรมการโจทก์ได้ออกข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือน ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ที่ 3/2539ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 เป็นต้นไป โดยมีบทเฉพาะกาล ข้อ 10 กำหนดว่า กรณีพนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และเป็นพนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง โจทก์จึงได้จ่ายค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณอายุจำนวน 6 เดือนหรือ 180 วัน ของค่าจ้างอัตราสุดท้ายแก่จำเลยแต่ละคนตามจำนวนที่ปรากฏตามคำฟ้องแต่ละสำนวนไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 ต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือลงวันที่ 29ตุลาคม 2540 แจ้งว่า ข้อบังคับที่โจทก์ประกาศใช้ไม่ได้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่มีผลใช้บังคับ และตามบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้พนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ให้นับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องเพื่อสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานนั้นขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38 เรื่อง การรับโอนลูกจ้างจากศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย โดยให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือเลิกจ้าง และให้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง ซึ่งพนักงานที่รับโอนมาได้รับสิทธิประโยชน์จากทางราชการครบถ้วนสมบูรณ์ไปแล้ว จะนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องเพื่อสิทธิประโยชน์รับเงินค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานอีกไม่ได้ โจทก์จึงรายงานให้คณะกรรมการโจทก์ทราบคณะกรรมการมีมติให้โจทก์เรียกเงินค่าชดเชยที่จ่ายไปคืนจากพนักงานที่ไม่มีสิทธิ โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยทั้งยี่สิบสามให้คืนเงินค่าชดเชยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแต่จำเลยทั้งยี่สิบสามเพิกเฉย การที่จำเลยทั้งยี่สิบสามได้รับเงินค่าชดเชยจากโจทก์เป็นการรับไปโดยไม่สุจริตโดยรู้ว่าไม่มีสิทธิจะได้รับ เป็นการได้เงินมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สินจึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ขอให้บังคับจำเลยทั้งยี่สิบสามคืนเงินค่าชดเชยจำนวนตามคำฟ้องแต่ละสำนวน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 14 ที่ 16 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 และที่ 29 ให้การว่า จำเลยทั้งยี่สิบคนนี้ได้รับเงินค่าชดเชยไปจากโจทก์โดยสุจริต คณะกรรมการโจทก์พิจารณาอนุมัติโดยชอบด้วยระเบียบปฏิบัติและวิธีการตามกฎหมาย โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยทั้งยี่สิบเนื่องจากจำเลยทั้งยี่สิบออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ถือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ในวันที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งยี่สิบคืนเงินนั้นเงินดังกล่าวไม่มีเหลืออยู่ที่จำเลยทั้งยี่สิบแล้ว จำเลยทั้งยี่สิบจึงไม่ต้องคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลยทั้งยี่สิบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 407 กรณีตามฟ้องไม่ต้องด้วยมาตรา 1336 โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนเกิน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยแต่ละคนรับเงินค่าชดเชยไปจากโจทก์ จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้การว่า การรับเงินค่าชดเชยของจำเลยทั้งสองคนเป็นการรับโดยสุจริต จึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน เนื่องจากไม่เป็นลาภมิควรได้ โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าชดเชยคืนจากจำเลยทั้งสองเกิน 1 ปี นับแต่วันที่28 มกราคม 2540 ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้รับเงินและวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งจำเลยที่ 6ได้รับเงิน คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 15 ให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีเรียกเงินซึ่งเป็นลาภมิควรได้พ้นกำหนดเวลา1 ปี นับแต่โจทก์ทราบหรือใช้สิทธิได้แล้ว คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 9 คืนเงินจำนวน 202,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 28 คืนเงินจำนวน 67,140 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 910.52 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 และที่ 29

โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535เดิมจำเลยทั้งยี่สิบสามเป็นลูกจ้างประจำของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย กรมการบินพาณิชย์ ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2536 โจทก์รับโอนจำเลยทั้งยี่สิบสามมาเป็นพนักงานของโจทก์ตามคำสั่งโจทก์ที่ 3/2536 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2536 เอกสารหมาย จ.2 จำเลยทั้งยี่สิบสามปฏิบัติงานกับโจทก์จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2536 จึงเกษียณอายุ ต่อมาคณะกรรมการของโจทก์ออกข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 เป็นต้นไป โดยมีบทเฉพาะกาล ข้อ 10 กำหนดว่า กรณีพนักงานที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์และเป็นพนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง ตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยทั้งยี่สิบสามมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามข้อบังคับดังกล่าว โจทก์จึงได้จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่จำเลยแต่ละคนตามจำนวนที่ปรากฏตามคำฟ้องแต่ละสำนวนเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 ต่อมาโจทก์จัดทำร่างข้อบังคับว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานของพนักงานขึ้นใหม่ โดยให้ยกเลิกข้อบังคับฉบับเดิมและให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 ซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นชอบแล้ว จึงเสนอไปให้กระทรวงการคลังพิจารณา ต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือแจ้งว่า ข้อบังคับตามเอกสารหมาย จ.3โจทก์ประกาศใช้โดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง จึงไม่มีผลใช้บังคับและตามบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้พนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ให้นับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องเพื่อสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานนั้นขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38เรื่องการรับโอนลูกจ้างจากศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย โดยให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือเลิกจ้าง และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง ซึ่งพนักงานที่รับโอนมาได้รับสิทธิประโยชน์จากทางราชการครบถ้วนสมบูรณ์ไปแล้ว จะนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องเพื่อสิทธิประโยชน์รับเงินค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานอีกไม่ได้ตามหนังสือกระทรวงการคลัง เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2543 คณะกรรมการโจทก์ได้ประชุมและให้โจทก์ทำหนังสือเรียกเงินคืนจากพนักงานที่ได้รับเงินค่าชดเชยไปแล้วตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.5 โจทก์มีหนังสือทวงถามเงินค่าชดเชยคืนจากจำเลยทั้งยี่สิบสาม จำเลยทั้งยี่สิบสามได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่ไม่ยอมชำระคืนให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าโจทก์มีสิทธิติดตามเอาคืนเงินค่าชดเชยที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27และที่ 29 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นองค์กรของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและตามกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการของโจทก์ได้ออกข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือน ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 ที่ 3/2539 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 เป็นต้นไป โดยมีบทเฉพาะกาล ข้อ 10 กำหนดว่า กรณีพนักงานที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์และเป็นพนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง โจทก์จึงได้จ่ายเงินค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณอายุจำนวน 6 เดือน หรือ 108 วัน ของอัตราค่าจ้างเงินเดือนสุดท้ายของจำเลยแต่ละคนให้แก่จำเลยแต่ละคนรับไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 และต่อมากระทรวงการคลังมีหนังสือแจ้งว่าข้อบังคับดังกล่าวที่โจทก์ประกาศใช้ไม่ได้ขอรับความเห็นชอบจากระทรวงการคลัง เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องและตามบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้พนักงานที่รับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ให้นับการทำงานต่อเนื่องเพื่อสิทธิในการรับค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือนพ.ศ. 2535 มาตรา 38 การที่จำเลยทั้งยี่สิบสามออกจากงานในหน่วยงานเดิมตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และจำเลยทั้งยี่สิบสามได้รับประโยชน์เป็นเงินบำเหน็จลูกจ้างจากทางราชการ โดยคำนวณจากระยะเวลาทำงานคูณด้วยเงินเดือนครั้งสุดท้ายไปเรียบร้อยแล้ว การทำงานกับโจทก์จึงถือว่าเป็นการเริ่มต้นทำงานใหม่ซึ่งจำเลยทั้งยี่สิบสามทำงานยังไม่ครบกำหนด 5 ปี เมื่อนับถึงวันเกษียณอายุจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47 ซึ่งจำเลยในฐานะพนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องถือปฏิบัติด้วยตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ข้อบังคับตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 ไม่มีผลใช้บังคับผูกพันโจทก์เนื่องจากขัดกับพระราชกฤษฎีกาพระราชบัญญัติและระเบียบดังกล่าว การที่จำเลยทั้งยี่สิบสามได้รับเงินค่าชดเชยไปจากโจทก์อีกจึงเป็นการนำระยะเวลาการทำงานเดิมที่จำเลยทั้งยี่สิบสามใช้สิทธิเบิกเงินบำเหน็จลูกจ้างไปแล้วมาใช้สิทธิซ้ำซ้อนอีกครั้ง เป็นการได้เงินมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และทำให้โจทก์เสียเปรียบ เมื่อโจทก์มีหนังสือให้คืนเงิน จำเลยทั้งยี่สิบสามไม่คืนให้โดยไม่มีเหตุจะอ้างตามกฎหมายได้ จึงถือเป็นการรับไว้โดยทุจริตจำเลยทั้งยี่สิบสามไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองเงินดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินจึงมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนจากจำเลยทั้งยี่สิบสามผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยทั้งยี่สิบสามโดยเข้าใจว่าจำเลยทั้งยี่สิบสามมีสิทธิได้รับตามข้อบังคับสถาบันการบินพลเรือนว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยของพนักงาน พ.ศ. 2539 เอกสารหมาย จ.3 ที่มีข้อกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 ซึ่งโจทก์เชื่อว่าเป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมายทั้งที่แท้จริงแล้วจำเลยทั้งยี่สิบสามไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38 ไม่มีผลใช้บังคับ การที่จำเลยทั้งยี่สิบสามได้รับค่าชดเชยจากโจทก์จึงเป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบจึงเป็นการได้รับค่าชดเชยมาในฐานลาภมิควรได้ โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยทั้งยี่สิบสามคืนค่าชดเชยที่รับมาให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งยี่สิบสามเอาทรัพย์สินของโจทก์มายึดถือไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์โดยคณะกรรมการโจทก์เป็นผู้ออกข้อบังคับเอกสารหมาย จ.3 เมื่อกระทรวงการคลังแจ้งว่าข้อบังคับดังกล่าวออกมาไม่ถูกต้องขัดต่อพระราชกฤษฎีกาโจทก์จึงต้องขอให้คณะกรรมการโจทก์วินิจฉัยก่อนว่าจะให้โจทก์เรียกเงินค่าชดเชยคืนหรือไม่ โจทก์จะดำเนินการเองโดยคณะกรรมการโจทก์ยังไม่วินิจฉัยไม่ได้หากศาลฟังว่ากรณีนี้เป็นเรื่องลาภมิควรได้ฟ้องของโจทก์ก็ยังไม่ขาดอายุความ 1 ปี เนื่องจากโจทก์เพิ่งทราบและสามารถเรียกเงินค่าชดเชยคืนได้เมื่อคณะกรรมการโจทก์มีมติให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกคืนเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม2543 จึงไม่พ้นกำหนด 1 ปี เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419บัญญัติให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินจากผู้ที่ได้ทรัพย์สินฐานลาภมิควรได้ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน มิใช่ภายในหนึ่งปีนับแต่ผู้เสียหายประสงค์ใช้สิทธิเรียกคืนตามที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายรองศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์องค์การ อินทรัมพรรย์ ผู้ว่าการของโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้รับทราบหนังสือกระทรวงการคลังตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 แจ้งว่าข้อบังคับของโจทก์ที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยทั้งยี่สิบสาม ตามเอกสารหมาย จ.3 ประกาศใช้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังและขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 38 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้จำเลยทั้งยี่สิบสามจึงเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิได้รับนั้นถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนจากจำเลยทั้งยี่สิบสามตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 7 กรกฎาคม2543 ซึ่งพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนดังกล่าวแล้ว คดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 10 ถึงที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 และที่ 29 จึงขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share