แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังฟ้อง และร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) อันเป็นไปเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตน โดยไม่ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น คำขอบังคับของผู้ร้องสอดเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด และห้ามโจทก์กับจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด เท่ากับเป็นการตั้งประเด็นฟ้องทั้งโจทก์และจำเลย และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง คดีร้องสอดคดีนี้จึงเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีใหม่และเป็นอีกคดีหนึ่งแยกกันได้กับคดีเดิม อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การแก้ร้องสอดได้ ผู้ร้องสอดจะยกข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีเดิมมาเป็นข้อต่อสู้ของตนในคดีร้องสอดและฟ้องแย้งนี้ไม่ได้
ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง แล้ว
ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพื่อขอให้มีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด กับห้ามโจทก์และจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด และที่โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งในคดีร้องสอด ก็เป็นไปเพื่อเพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นการเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ที่มีผลให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย แล้วโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้องอีกทอดหนึ่ง ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่พิพาทกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือของผู้ร้องสอด คดีร้องสอดและฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) (ก).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 85742 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร แก่โจทก์ และรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 5,500,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอให้พิพากษาว่า การรับโอนที่ดินพิพาทมีผลสมบูรณ์ ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดและห้ามโจทก์และจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 85742 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอด ให้ผู้ร้องสอดจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากผู้ร้องสอดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าการซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
ผู้ร้องสอดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 85742 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอด ให้จำเลยและผู้ร้องสอดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ ให้จำเลยและผู้ร้องสอดส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของแก่โจทก์เพื่อจดทะเบียน หากจำเลยและผู้ร้องสอดไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและผู้ร้องสอด และให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ คำร้องสอดของผู้ร้องสอดให้ยกเสีย ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ และให้ผู้ร้องสอดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งแทนโจทก์ โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ร้องสอดร่วมกันใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมา 2,000 บาท แก่โจทก์
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งและนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2555 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 85742 ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ในราคา 6,000,000 บาท โจทก์วางมัดจำแก่จำเลยในวันทำสัญญา 500,000 บาท นัดโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือวันที่ 23 เมษายน 2555 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ วันที่ 25 เมษายน 2555 จำเลยกับนางพิมผกา มารดาของผู้ร้องสอดทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกันที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร ราคา 10,000,000 บาท วางมัดจำแก่จำเลยในวันทำสัญญา 3,000,000 บาท นัดโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงินส่วนที่เหลือวันที่ 25 มิถุนายน 2555 และให้ผู้จะซื้อยึดถือโฉนดที่ดินไว้ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ในวันนั้นมีผู้ร้องสอดไปด้วยและได้ให้จำเลยยื่นขอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2555 โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาทอ้างว่า โจทก์กับจำเลยทำข้อตกลงใหม่ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2555 ว่าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 27 เมษายน 2555 แต่ถึงกำหนดนัดใหม่จำเลยไม่ยอมไปโอนตามสัญญา จึงขออายัดที่ดินพิพาทเพื่อจะได้ดำเนินการฟ้องศาลให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้ตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินทำการอายัดให้มีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 ได้จัดพิมพ์หนังสือแจ้งให้ผู้ถูกอายัดและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว ตามสำเนาคำขออายัดที่ดิน โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 แล้วในวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาทอีกอ้างว่า ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว จึงขออายัดที่ดินอีกเพื่อจะนำคำขออายัดไปแสดงต่อศาล เพื่อให้ศาลออกคำสั่งอายัดที่ดินต่อไป เจ้าพนักงานที่ดินไม่รับอายัดโดยให้เหตุผลว่า การอายัดตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีกำหนด 30 วัน นับแต่วันสั่งรับอายัดแล้ว โจทก์จะขออายัดซ้ำอีกไม่ได้ และแจ้งโจทก์ให้ไปดำเนินการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลสั่งยึดหรืออายัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อไป ตามสำเนาคำขออายัด วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 โจทก์ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้อง หลังจากนั้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จำเลยกับผู้ร้องสอดทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องสอด โดยด้านหลังหนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อความที่เจ้าพนักงานที่ดินทำบันทึกให้จำเลยกับผู้ร้องสอดลงลายมือชื่อระบุว่า จำเลยและผู้ร้องสอดได้ทราบแล้วว่าโจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา ทางเจ้าหน้าที่ได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 นั้น จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใด ๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามสำเนาสัญญาซื้อขายและสำเนาโฉนดที่ดินพิพาท หรือสำเนาสัญญาซื้อขาย
คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องสอดข้อที่ว่า บันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาจะซื้อขาย ลงวันที่ 19 เมษายน 2555 ที่เป็นบันทึกข้อตกลงขยายระยะเวลาชำระเงินและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย จากเดิมวันที่ 23 เมษายน 2555 เป็นวันที่ 27 เมษายน 2555 และมีลายมือชื่อของจำเลยลงชื่อในฐานะผู้จะขายนั้นไม่มีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากโจทก์ก็ดี บันทึกข้อตกลงขยายระยะเวลาดังกล่าว จำเลยให้การว่าเป็นเอกสารปลอมนั้น ภาระการพิสูจน์เอกสารปลอมตกแก่โจทก์ก็ดี สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับและถือว่าเลิกสัญญากันแล้ว และจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ดี สำเนารายงานประจำวันลงวันที่ 27 เมษายน 2555 ซึ่งมีผู้รับมอบอำนาจของบริษัทบีเคนครพนม จำกัด ฝ่ายผู้จะซื้อแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ได้เดินทางไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนครพร้อมนำเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 5,500,000 บาท แต่รอจนถึงปิดทำการแล้ว จำเลยไม่ยอมมานั้น ไม่ใช่คู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย และการอายัดที่ดินภายหลังจากโจทก์ผิดสัญญาไม่มีผลตามกฎหมายก็ดี โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อให้บริษัทบีเคนครพนม จำกัด ถือว่าโจทก์สละสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่บริษัทบีเคนครพนม จำกัด ก็ดี สัญญาจะซื้อขาย ลงวันที่ 27 มกราคม 2555 ระหว่างโจทก์กับบริษัทบีเคนครพนม จำกัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ยังไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่บริษัทบีเคนครพนม จำกัด ก็ดี โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำและขายที่ดินพิพาทแก่บุคคลอื่นได้ก็ดี นั้น เห็นว่า ปัญหาทั้งเจ็ดประการดังกล่าวเป็นปัญหาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่เป็นคู่สัญญากัน และเป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังฟ้อง และร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) อันเป็นไปเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยไม่ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) เพราะตนมีส่วนได้ส่วนเสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น คำขอบังคับของผู้ร้องสอดก็เป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด และห้ามโจทก์กับจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด เท่ากับเป็นการตั้งประเด็นฟ้องทั้งโจทก์และจำเลย และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่…” คดีร้องสอดคดีนี้จึงเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีใหม่และเป็นอีกคดีหนึ่งแยกกันได้กับคดีเดิม อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การแก้ร้องสอดได้ ส่วนที่โจทก์ฟ้องแย้งตามคำร้องสอดนั้นก็เป็นการขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอด และขอเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องสอด เพราะเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ ผู้ร้องสอดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งก็อยู่ในประเด็นดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดเพียงว่า ในขณะที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดนั้น ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบหรือผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้รับโอนอันมีค่าตอบแทนได้กระทำการโดยสุจริตหรือไม่เท่านั้น ทั้งในคำร้องสอดและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของผู้ร้องสอดก็หาได้ยกข้อต่อสู้เหล่านี้ขึ้นมาเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีร้องสอดและฟ้องแย้งนี้ด้วยไม่ ผู้ร้องสอดจึงจะยกข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีเดิมมาเป็นข้อต่อสู้ของตนในคดีร้องสอดและฟ้องแย้งนี้ไม่ได้ มิฉะนั้นเท่ากับให้ผู้ร้องสอดเลือกข้อต่อสู้ของโจทก์หรือของจำเลยมาเป็นประโยชน์แก่ตนเช่นใดก็ได้ รวมทั้งโจทก์อุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายที่ขอให้จำเลยชดใช้เป็นเงิน 4,000,000 บาท และค่าทนายความ โดยจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ และโจทก์และจำเลยไม่ฎีกา คดีเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้ว ผู้ร้องสอดชอบที่จะฎีกาในปัญหาที่เกี่ยวกับคดีร้องสอดและฟ้องแย้งดังกล่าวได้เท่านั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องสอดข้างต้น
ส่วนฎีกาของผู้ร้องสอดข้อที่ว่า ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางโจทก์เสียเปรียบหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทนั้น เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา ทางเจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 นั้น จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใด ๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามบันทึกด้านหลังหนังสือสัญญาซื้อขาย เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย…” แล้ว ส่วนที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลชั้นต้นไม่มีผลให้การซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดเป็นโมฆะก็ดี เจ้าพนักงานที่ดินยอมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เพราะไม่มีการอายัดแล้วจึงเป็นการโอนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ร้องสอดโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี บันทึกของเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินพ้นผิดหากมีการฟ้องร้องต่อศาล ไม่เกี่ยวกับการที่ผู้ร้องสอดจะต้องรับผิดต่อเจ้าพนักงานที่ดินในกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ร้องสอด หรือมีใจความสรุปว่าไม่เอาความแก่เจ้าพนักงานที่ดินหากมีข้อโต้แย้งกัน จำเลยและผู้ร้องสอดจะไม่เอาผิดแก่เจ้าพนักงานที่ดินก็ดี แม้ผู้ร้องสอดจะทราบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแล้วก็ตาม ก็ไม่มีผลให้สัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดตกเป็นโมฆะก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นข้อต่อสู้ที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น จึงไม่มีผลให้ผู้ร้องสอดชนะคดีแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องสอดฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองบังคับให้ตามคำขอตามฟ้องแย้งของโจทก์ที่ให้ผู้ร้องสอดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และให้ผู้ร้องสอดส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของแก่โจทก์เพื่อจดทะเบียน หากผู้ร้องสอดไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เป็นเรื่องโจทก์กับผู้ร้องสอดไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน ในอันจะบังคับให้ผู้ร้องสอดกระทำการเช่นว่านั้นหาได้ไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลฎีกาเห็นสมควรจึงยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 และการที่ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) เพื่อขอให้มีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด กับห้ามโจทก์และจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด และที่โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งในคดีร้องสอด ก็เป็นไปเพื่อเพิกถอนนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 อันเป็นการเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ที่มีผลให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย แล้วโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้องเดิมอีกทอดหนึ่ง ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่พิพาทกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือของผู้ร้องสอด คดีร้องสอดและฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) (ก) ที่ผู้รองสอดเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 82,060 บาท และค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 78,000 บาท เกินมาจึงต้องคืนให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอตามฟ้องแย้งของโจทก์ที่ให้ผู้ร้องสอดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และให้ผู้ร้องสอดส่งมอบโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของแก่โจทก์เพื่อจดทะเบียน หากผู้ร้องสอดไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 กับคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่ผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งในส่วนคดีร้องสอดและฟ้องแย้งให้เป็นพับ