คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8493/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างคดีมโนสาเร่ กำหนดนัดพิจารณาให้โจทก์จำเลยมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การและสืบพยาน ก่อนถึงกำหนดนัด ศาลสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ทิ้งฟ้อง เมื่อถึงวันนัดโจทก์อ้างส่งเอกสารต่อศาล 14 ฉบับ แล้ววันเดียวกันนั้น ศาลได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยพิเคราะห์จากเอกสารที่โจทก์อ้างส่งดังกล่าว โดยศาลชั้นต้นมิได้จดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาว่ามีคู่ความฝ่ายใดมาศาลบ้าง รวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 ทั้งไม่ปรากฏว่าในวันนัดพิจารณาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มาศาลหรือไม่ เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลโดยไม่ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ตามมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก่อนหรือในวันนัดดังกล่าวให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การด้วย อันเป็นเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะทำการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวได้ตามมาตรา 204 กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลจึงจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ตามมาตรา 206 วรรคสอง ประกอบมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ที่นำมาบังคับใช้โดยอนุโลม การพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมาจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์จะสามารถอ้างส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายที่ยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (1) (2), 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 134,707.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จากต้นเงิน 100,157.48 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 645.21 บาท ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์และหากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 134,707.30 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จากต้นเงิน 100,157.48 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กรกฎาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนกับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาของโจทก์ว่า “รับอุทธรณ์โจทก์ รับคำร้อง สำเนาให้จำเลยที่ 2 ถ้าจะคัดค้านให้คัดค้านภายใน 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง…” และมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า “…สั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา” ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์แล้วไม่คัดค้านและไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งอนุญาตแต่สั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่า รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว คดีมีปัญหาสมควรที่จะวินิจฉัยก่อนว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้โดยชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาแบบคดีมโนสาเร่ โดยกำหนดวันนัดพิจารณาให้โจทก์จำเลยมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยานในวันที่ 17 ตุลาคม 2549 เวลา 9 นาฬิกา ก่อนถึงวันนัดศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 จากสารบบความ เมื่อถึงวันนัดปรากฏว่าโจทก์อ้างส่งเอกสารต่าง ๆ ต่อศาลรวม 14 ฉบับ และในวันเดียวกันนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยพิเคราะห์ตามเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างส่งศาล เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวมาไม่ปรากฏเลยว่า เมื่อถึงวันนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นได้จดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาว่ามีคู่ความฝ่ายใดมาศาลบ้างรวมทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ ที่จำเป็นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 48 ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้มาศาลหรือไม่เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลโดยมิได้ร้องขอเลื่อนคดีหรือแจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ตามมาตรา 193 ทวิ วรรคสอง จึงให้ถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา ถ้าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก่อนหรือในวันนัดดังกล่าวให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การด้วยอันเป็นเหตุตามกฎหมายที่ศาลจะทำการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวได้ตามมาตรา 204 กระบวนพิจารณาต่อจากนั้นศาลจึงจะใช้ดุลพินิจให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ตามมาตรา 206 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ที่นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม การพิจารณาที่ศาลชั้นต้นดำเนินมาจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์สามารถอ้างส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ในการพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน ถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (1) (2), 246 และ 247 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันนัดพิจารณา แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share