แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน 2 แปลง มาเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันชำระหนี้แทน ศ. เป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าผูกพันตนต่อโจทก์ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อ ศ. ไม่ชำระหนี้อันมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันครบถ้วนตามมาตรา 680 วรรคหนึ่งแล้ว จำเลยจึงมีความผูกพันตามเอกสารดังกล่าวในฐานะผู้ค้ำประกัน และแม้จำเลยจะมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ยึดถือไว้ด้วย ก็หาทำให้ผลของสัญญาค้ำประกันนั้นเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อจำเลยหาหลักประกันมาให้โจทก์ได้ โจทก์ก็อาจไม่ดำเนินคดีอาญาแก่ ศ. ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คได้หาใช่เป็นการอุปการะให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นอันจะทำให้สัญญาค้ำประกันเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงไม่เป็นโมฆะ
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ ศ. ตามคำพิพากษาอยู่แล้ว การที่โจทก์ยอมรับเครื่องทองรูปพรรณและเครื่องเพชรไว้โดยที่ยังไม่ดำเนินการบังคับคดีแก่ ศ. ยังไม่ถือเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม อันจะทำให้จำเลยซึ่งเข้าค้ำประกันหนี้ดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะโจทก์จะดำเนินการบังคับคดีแก่ ศ. เมื่อใดก็ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้นางศิริวัลย์หรือบุญญิสา จอกแก้วตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ๗๔๗/๒๕๓๘ เรื่องตั๋วเงินโดยศาลพิพากษาให้นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์และนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ต่อมาเช็คถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงนำเช็คฟ้องดำเนินคดีแก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาถูกจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๘ ในวันดังกล่าว นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่เหลืออีก ๙๐๐,๐๐๐ บาท จะชำระให้วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๘ และเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ๒ ฉบับเลขที่ ๒๗๐๒ และ ๒๗๐๖ เลขที่ดิน๙๗, ๑๐๑ มอบแก่โจทก์ และจำเลยทำหนังสือสัญญาชำระหนี้แทนนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาโดยสัญญาว่า นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาจะนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนด หากชำระครบแล้วโจทก์ต้องคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลย หากนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไม่ชำระยอมให้โจทก์นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกขายใช้หนี้โจทก์ ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระเงินนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาชำระเงินให้โจทก์เพียง๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่เหลืออีกจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ตกลงเลื่อนไปชำระวันที่๑๕ มกราคม ๒๕๓๙ ครั้นเมื่อถึงกำหนดชำระ นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไม่ชำระโจทก์ทวงถาม แต่จำเลยและนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน ๘๓๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน ๒ แปลงที่มอบไว้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ และหากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า ตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมจำเลยทำสัญญาโดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาวางเป็นหลักประกันเท่านั้นมิได้ค้ำประกันด้วยบุคคล โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวเพราะไม่ได้จดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์คงมีสิทธิยึดหน่วงเท่านั้น จำเลยหลุดพ้นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเนื่องจากเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระโจทก์ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้นางศิริวัลย์หรือบุญญิสา จอกแก้ว โดยจำเลยมิได้ตกลงยินยอม นอกจากนี้โจทก์ยังไม่ได้สละการบังคับคดีแก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๙ จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของนางศิริวัลย์หรือบุญญิสา จอกแก้ว โดยศาลพิพากษาให้นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาได้ออกเช็คชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติว่า ด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คแก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสา วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๘ นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาถูกจับกุม จึงชำระเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายหลัง จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาชำระหนี้ และมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ๒ ฉบับเลขที่ ๒๗๐๒ และ ๒๗๐๖ ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ยอมให้นางศิริวัลย์หรือบุญญิสานำเงินมาชำระหนี้ที่เหลือจำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๘ ต่อมาเมื่อถึงกำหนดนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์และนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาตกลงเลื่อนการชำระหนี้ที่เหลืออีกจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาทไปวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๙ โดยจำเลยยินยอม
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๗๒ วรรคสอง บัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” โจทก์ได้บรรยายคำฟ้องของโจทก์ไว้แล้วว่า นางศิริวัลย์หรือบุญญิสา จอกแก้ว เป็นหนี้โจทก์อยู่ ๑,๐๐๐,๐๐๐บาท นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาได้ชำระหนี้แล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาจะนำมาชำระแก่โจทก์ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๘ เพื่อเป็นหลักประกันจำเลยได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์รวม ๒ ฉบับ มามอบให้โจทก์ไว้เพื่อค้ำประกันชำระหนี้แทนนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาหากนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไม่ชำระเงินแก่โจทก์จนครบถ้วน โดยโจทก์ได้อ้างสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาชำระหนี้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ ด้วย และเมื่อนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไม่ชำระหนี้ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แทน เป็นคำฟ้องที่ทำให้เข้าใจได้ชัดแจ้งว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งมีรายละเอียดตามเอกสารท้ายคำฟ้องอยู่แล้ว ส่วนสัญญาดังกล่าวจะเป็นการประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์ที่จะบังคับได้เพียงใดหรือไม่เป็นเรื่องที่ศาลจะพิจารณาวินิจฉัยต่อไป หาจำต้องระบุในคำฟ้องไม่คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๔ หรือไม่ ในข้อนี้ที่จำเลยฎีกาว่า ในวันที่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาถูกจับกุมครั้งแรก โจทก์ยอมให้นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาเลื่อนเวลาชำระหนี้ออกไปและยอมให้ปล่อยตัวนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาโดยโจทก์มีเงื่อนไขว่า ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันการชำระหนี้ จำเลยจึงมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน ๒ ฉบับและทำสัญญาเอกสารหมาย จ.๔ ให้แก่โจทก์ ซึ่งมิใช่เป็นการค้ำประกันนั้นเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.๔ มีข้อความที่เป็นสาระสำคัญว่า …จำเลยได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์จำนวน ๒ แปลง นี้มาเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันชำระหนี้แทนนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาซึ่งเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาทหากนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไม่นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์บังคับเอากับที่ดินจำนวน ๒ แปลง ที่กล่าวมานี้เสมือนจำเลยเป็นผู้รับชำระหนี้แทนนางศิริวัลย์หรือบุญญิสา พร้อมกับลงลายมือชื่อจำเลยในฐานะผู้มอบ/ค้ำประกันจึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าผูกพันตนต่อโจทก์ เพื่อชำระหนี้ในเมื่อนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไม่ชำระหนี้ เมื่อข้อความตามเอกสารหมาย จ.๔ มีข้อความอันมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๘๐ วรรคหนึ่ง แล้ว และจำเลยลงชื่อระบุฐานะของตนเองไว้ด้วยว่าเป็นผู้ค้ำประกัน โดยจำเลยมีวัตถุประสงค์เข้าค้ำประกันหนี้ระหว่างโจทก์และนางศิริวัลย์หรือบุญญิสา เมื่อข้อความในสัญญาเห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยยอมผูกพันชำระหนี้แทนนางบุญญิสาลูกหนี้ชั้นต้น จำเลยจึงมีความผูกพันตามเอกสารหมายจ.๔ ในฐานะผู้ค้ำประกัน และแม้จำเลยจะมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ยึดถือไว้ด้วย ก็ไม่ทำให้ผลของสัญญาค้ำประกันนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.๔โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โจทก์ปล่อยตัวนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เท่ากับให้โจทก์ไม่ดำเนินคดีอาญาแก่ลูกหนี้ อันเป็นการอุปการะให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เป็นวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะนั้นเห็นว่า คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๕๓๔ เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อจำเลยหาหลักประกันมาให้โจทก์ได้ โจทก์ก็อาจไม่ดำเนินคดีอาญาแก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาซึ่งเป็นผู้ออกเช็คได้ หาใช่เป็นการอุปการะให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นอันจะทำให้สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.๔ เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ จึงไม่เป็นโมฆะ
ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยให้การรับว่า จำเลยได้ทำสัญญาดังกล่าวตามสำเนาสัญญาเอกสารท้ายคำฟ้องจริง จึงรับฟังได้ตามคำรับของจำเลยว่า มีการทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารดังกล่าวจริงอยู่แล้ว กรณีจึงไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยใช้ต้นฉบับสัญญาค้ำประกันที่ไม่ปิดอากรแสตมป์ อันต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๑๘
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามมีว่า จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดเนื่องจากโจทก์ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาลูกหนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๙นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไม่ชำระหนี้แต่ได้นำเครื่องทองรูปพรรณและเครื่องเพชรไปมอบไว้ให้โจทก์เพื่อประกันการชำระหนี้และโจทก์ผ่อนระยะเวลาชำระหนี้ออกไปโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๔อีกต่อไปนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาตามคำพิพากษาอยู่แล้วลำพังการที่โจทก์ยอมรับเครื่องทองรูปพรรณและเครื่องเพชรไว้โดยที่ยังไม่ดำเนินการบังคับคดีแก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสา ยังไม่ถือเป็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมอันจะทำให้จำเลยซึ่งเข้าค้ำประกันดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิด เพราะโจทก์จะดำเนินการบังคับคดีเอาแก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาเมื่อใดก็ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๔ หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ยอมรับเครื่องทองรูปพรรณและเครื่องเพชรจากนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาไว้เป็นประกันการชำระหนี้และผ่อนเวลาชำระหนี้ออกไปไม่มีกำหนด นางศิริวัลย์หรือบุญญิสาจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จะฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ยังไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์มิได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่นางศิริวัลย์หรือบุญญิสา และนางศิริวัลย์หรือบุญญิสาผิดนัดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันในสัญญาค้ำประกันแล้ว โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.