คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9657/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอน การขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้เพิกถอนการขายทอดตลาด แม้ในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟัง จะยังไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้คำพิพากษา ของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดก็ตาม แต่ในขณะที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นฎีกาต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2542 นั้น ป.วิ.พ. ได้ถูกแก้ไข เพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 แล้ว โดยมาตรา 296 วรรคสอง กำหนดให้ความในวรรคนี้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง และในมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง กับวรรคสี่ ซึ่งบัญญัติขึ้นใหม่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เนื่องจากราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควรนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์ไปยัง ศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นอันต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์บังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๗๙๓ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๗๙๔ ของจำเลยที่ ๒ ออกขายทอดตลาด ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๗๙๓ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๑ ในราคาสูงสุดเป็นเงิน ๓๘๐,๐๐๐ บาท และขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๗๙๔ ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๒ ในราคาสูงสุดเป็นเงิน ๑๓๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ ๒ จดทะเบียนจำนองประกันหนี้โจทก์ จำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาท ที่ดินทั้งสองแปลงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ การคมนาคมสะดวก มีถนน ไฟฟ้า และน้ำประปาเข้าถึง ขณะขายทอดตลาดทางราชการประเมินราคาตารางวาละ ๓,๕๐๐ บาท โจทก์คัดค้านราคาขายทอดตลาดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าราคาต่ำไป หากขายทอดตลาดใหม่จะมีผู้เข้าร่วมประมูลมากขึ้นและราคาจะไม่ต่ำกว่าราคาขายครั้งแรก การขาย ทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขาย ทอดตลาดและให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๗๙๓ และ ๘๗๙๔ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ ๒ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่
ผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
ผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เดิมโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ วรรคสอง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาต้องกันให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ซึ่งถึงแม้ในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ให้คู่ความฟังในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒ นั้น จะยังไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็น ที่สุดก็ตาม แต่ในขณะที่ผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๑ ยื่นฎีกาต่อมาในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ แล้ว โดยมาตรา ๒๙๖ วรรคสอง กำหนดให้ความในวรรคนี้ อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง และในมาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสอง กับวรรคสี่ ซึ่งบัญญัติขึ้นใหม่ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เนื่องจากราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สิน มีจำนวนต่ำเกินสมควรนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของ ศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ดังนี้ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๑ จึงเป็นอันต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๐๙ ทวิ วรรคสี่ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๑ มานั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๑ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่ผู้ซื้อทรัพย์ที่ ๑.

Share