คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นางสาว ส. ผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ เป็นบุตรและอยู่ในความปกครองของ ล. มารดา แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายได้หนีออกจากบ้านเพราะทะเลาะกับ ล. ผู้เป็นมารดาก็ตาม ก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของ ล. ที่มีอยู่หมดไปการที่จำเลยได้กอดจูบและกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่จำเลยพาผู้เสียหายไปพักที่โรงแรมและที่บ้านญาติจำเลย อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหาย เป็นการล่วงล้ำและกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย จึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากมารดาผู้เสียหายเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึง 2 เมษายน 2539 และ เมื่อระหว่างวันที่20 ถึง 22 เมษายน 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยพรากนางสาวสุธิสา หรือสุทิษา รัตนะ ผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ ไปเสียจากบิดามารดาของผู้เสียหายเพื่อการอนาจารโดยผู้เสียหายเต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319, 91 และเพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคหนึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปีคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนางสาวสุธิสา รัตนะผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ เป็นบุตรและอยู่ในความปกครองของนางละออง ทองเกียวมารดา และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนากระทำอนาจารผู้เสียหายมาแต่ต้น และจำเลยได้กอดจูบและกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่จำเลยพาผู้เสียหายไปพักที่โรงแรมพิมานและที่บ้านญาติจำเลยในจังหวัดพัทลุง อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหายแม้ในขณะนั้นผู้เสียหายจะหนีออกจากบ้านเพราะทะเลาะกับมารดา แต่ก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของมารดาที่มีอยู่หมดไป การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการล่วงล้ำและกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย จึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากมารดาผู้เสียหายเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน

Share