แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ให้โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ โดยโจทก์กล่าวอ้างมูลหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นหลักในการฟ้องคดี หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ของกองมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของเจ้ามรดก ไม่ใช่หนี้สินส่วนตัว การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจึงต้องร่วมกันดำเนินการจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1726 จะแยกกันจัดการไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดี เป็นการแยกกันจัดการมรดก เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 ตำบลบางหลวงฝั่งใต้ อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 600 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินของนางนารีแปลงที่ 6 ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับที่ดินของนางดวงพรโดยเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายด้วยตนเองให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายรวม 100,000 บาท หากไม่สามารถดำเนินการได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องหรือเพราะพ้นวิสัย ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,560,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 ตำบลบางหลวงฝั่งใต้ อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 180 ตารางวา ในส่วนที่ได้รับมรดกมาจากนางนารี ส้มเกลี้ยง ให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถดำเนินการได้ จำเลยที่ 1 จะชำระเงินให้แก่โจทก์ 468,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3083 ตำบลบางหลวงฝั่งใต้ อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก) จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 420 ตารางวา ในส่วนของนางนารี แปลงที่ 6 ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับที่ดินของนางดวงพร ที่ได้จับฉลากแบ่งแยกที่ดินร่วมกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องหรือเพราะพ้นวิสัย ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 1,092,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2554 และที่พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีเสร็จแล้วระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2554 ทั้งสองฉบับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองที่เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 ในการต่อสู้คดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้ต่อสู้คดีตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกของนางนารี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 แล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทโดยธรรมของนางนารีให้โอนที่ดินพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์มรดกของนางนารีให้แก่โจทก์ โดยโจทก์กล่าวอ้างมูลหนี้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเป็นหลักในการฟ้องคดี หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ของกองมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนของเจ้ามรดก ไม่ใช่หนี้สินส่วนตัว การทำหน้าที่ของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนารีในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ถูกฟ้องเช่นนี้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันดำเนินการจัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 จะแยกกันจัดการไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ต่อสู้คดี เป็นการแยกกันจัดการมรดก เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง (2) ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่