คำวินิจฉัยที่ 24/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องว่า บริษัทปตท.ฯ ผู้คัดค้าน ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทนาแคปฯ วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตามสัญญามีข้อตกลงกันว่า ข้อพิพาทใดๆตามสัญญาที่เกิดขึ้นให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทผู้คัดค้านเป็นผู้ชี้ขาดและหากผู้รับจ้างประสงค์จะเสนอข้อพิพาทให้แก่อนุญาโตตุลาการ และอนุญาโตตุลาการแต่ละฝ่ายไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ร้องขอต่อศาลยุติธรรมแห่งประเทศไทยแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการ ต่อมาผู้คัดค้านไม่ชำระค่าจ้าง บริษัทนาแคปฯ เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งได้มีหมายเรียกบุคคลมาให้เป็นพยานแก่อนุญาโตตุลาการและมีคำสั่งแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการ ต่อมา คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านชำระค่าจ้างแก่บริษัทนาแคปฯ แต่ผู้คัดค้านไม่ชำระ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ จึงยื่นคำร้องขอให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิบังคับตามคำชี้ขาด เนื่องจากได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่เป็นไปตามสัญญา เนื่องจากต้องให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้คัดค้านวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน จึงจะทำการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการได้ การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงเป็นการข้ามขั้นตอน นอกจากนี้คำชี้ขาดมีข้อผิดพลาดมากมาย ดังนี้ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการคัดค้านอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการพิจารณาข้อพิพาท กับคำชี้ขาดไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อปรากฏว่าในการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งได้ออกหมายเรียกบุคคลให้มาเป็นพยานแก่อนุญาโตตุลาการ และมีคำสั่งแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่ใช้อำนาจเหนือคดีนี้มาโดยตลอดและเป็นศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล ตามพรบ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา ๙ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔/๒๕๕๙

วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคป เอเซีย แปซิฟิก (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๑๑๗/๒๕๕๗ความว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ได้ว่าจ้างบริษัทนาแคปฯ วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ สัญญาเลขที่ พีทีที/จีเอเอส/๒/๘/๔๘ ซึ่งมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ บริษัทนาแคปฯ ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้คัดค้านผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้าง เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ บริษัทนาแคปฯ จึงเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ค่าว่าจ้างรวมทั้งค่าเสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทนาแคปฯ และเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๖ มีคำพิพากษาให้ล้มละลาย ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าก่อสร้างและค่าเสียหายจำนวน ๑,๑๔๓,๗๑๐,๗๑๓.๑๕ บาท และจำนวน ๗๓,๖๙๙,๕๒๐.๘๒ เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยของเงินแต่ละจำนวนในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับถึงกำหนดชำระเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัทนาแคปฯ ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันถึงกำหนดตามใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับจนถึงวันเสนอข้อพิพาทต้องไม่เกิน ๑๑๐,๒๘๗,๗๘๓.๐๙ บาท และ๗,๖๔๙,๖๐๖.๐๕ เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และให้คืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒๑/๒๕๕๗ แต่ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตาม ขอบังคับให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกับให้ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าจ้างเพิ่มเติมและงานเปลี่ยนแปลงขอบเขตงานตามสัญญา อนึ่ง ตามสัญญาข้อพิพาท ข้อ ๑๗.๒ กำหนดว่า การระงับข้อพิพาทให้กระทำโดยการตั้งอนุญาโตตุลาการ และหากตกลงกันไม่ได้ ให้ร้องขอต่อศาลยุติธรรมเพื่อแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการให้ และในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งได้ออกหมายเรียกพยานบุคคล และมีคำสั่งแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการแล้ว ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางปกครอง ภายหลังจากทำสัญญาแล้ว บริษัทนาแคปฯ บริหารงานล้มเหลวเป็นเหตุให้ผู้รับเหมาช่วงต่างๆ ยื่นฟ้องบริษัทนาแคปฯ เป็นคดีแพ่งรวม ๓๖ คดี คิดเป็นมูลค่า ๑,๒๖๔,๕๐๒,๗๘๐.๗๓ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวได้มีหมายอายัดค่าจ้างถึงผู้คัดค้าน แต่ในขณะเดียวกันนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็มีหนังสือบอกกล่าวผู้คัดค้านว่า บริษัทนาแคปฯ ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างตามสัญญาให้แก่ธนาคารแล้ว ซึ่งต่อมาภายหลังมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้วว่าการโอนหนี้ดังกล่าวมีผลสมบูรณ์แล้ว บริษัทนาแคปฯ จึงไม่ใช่เจ้าของสิทธิเรียกร้อง หลังจากนั้นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งยื่นฟ้อง บริษัทนาแคปฯ ให้ล้มละลาย แต่ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัทนาแคปฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ และตามสัญญาพิพาทการระงับข้อพิพาทจะต้องให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้คัดค้านวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน การเสนอข้อพิพาทของบริษัทนาแคปฯ จึงเป็นการข้ามขั้นตอนกับเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่มีอำนาจ นอกจากนี้คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการมีข้อผิดพลาดมากมายทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๔๗/๒๕๕๗ ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม แม้การแสวงหาก๊าซปิโตรเลียมเป็นการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสัญญาทางปกครองก็ตาม แต่ผู้คัดค้านเพียงว่าจ้างบริษัทนาแคปฯ ให้วางท่อก๊าซธรรมชาติเท่านั้น ไม่ได้มอบหมายให้บริษัทนาแคปฯ เข้ามาจัดหาก๊าซธรรมชาติแทนผู้คัดค้านหรือให้ผู้ร้องผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และผู้คัดค้านไม่ได้อนุญาตให้บริษัทนาแคปฯ เข้าไปหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในอำนาจดูแลรักษาของผู้คัดค้าน ทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นเพียงอุปกรณ์ส่วนหนึ่งในการลำเลียงก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จึงไม่ใช่สิ่งสาธารณูปโภคที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงหรือเป็นอุปกรณ์สำคัญโดยตรงในการแสวงหาก๊าซธรรมชาติ สัญญาระหว่างบริษัทนาแคปฯ กับผู้คัดค้าน จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามคำนิยามแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ แต่เป็นเพียงสัญญาทางแพ่ง และเมื่อพิจารณาเนื้อหาของสัญญาดังกล่าวในเรื่องการบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว สิทธิในการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานหรือปฏิเสธที่จะไม่ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน สิทธิในการพิจารณาการขอขยายเวลาและค่าว่าจ้างเพิ่มเติมนั้น เป็นเพียงเงื่อนไขปกติทั่วไปในสัญญาจ้างทำของ ส่วนสิทธิในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาโดยให้ถือเป็นที่สุดและการให้สิทธิแก่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้คัดค้านในการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทก็เป็นเพียงการระงับข้อพิพาทในเบื้องต้น ไม่ได้ผูกพันคู่สัญญาโดยเด็ดขาด เพราะหากไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินชี้ขาดดังกล่าว บริษัทนาแคปฯ ยังมีสิทธิเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้ จึงไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ใดที่กำหนดให้ผู้คัดค้านมีอำนาจเหนือบริษัทนาแคปฯ ดังนั้นจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ในการดำเนินการอนุญาโตตุลาการกระทำขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่ง และศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งประธานคณะอนุญาโตตุลาการ และออกหมายเรียกพยานบุคคลเพื่อเบิกความ จึงถือได้ว่าศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการบังคับหรือปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาตั้งแต่ต้นแล้วตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงควรให้มีการตรวจสอบกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในเขตอำนาจของศาลเดียวกันโดยตลอด และที่สำคัญเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้บริษัทนาแคปฯ ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ แต่ผู้เดียวมีอำนาจฟ้องร้องเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทนาแคปฯ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ (๓) การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ อันทำให้คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีล้มละลายที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) ไม่ประสงค์ให้คดีล้มละลาย รวมทั้งคดีที่เกี่ยวพันกับคดีล้มละลายอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า เดิมผู้คัดค้านเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงการดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ตามนัยมาตรา ๕ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ ที่จะกระทำกิจการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ ตามมาตรา ๕ รวมถึง (๑)…(๒) จัดหา สำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม (๓) สำรวจ วางแผน ออกแบบและสร้างท่าเรือเพื่อธุรกิจปิโตรเลียม คลังปิโตรเลียม ระบบการขนส่งปิโตรเลียม โรงกลั่นปิโตรเลียมและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (๔) ดำเนินการขนส่งปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภายในประเทศ และระหว่างประเทศ (๕) จัดสร้างคลังสำหรับสะสมและสำรองปิโตรเลียม (๖) กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งและใช้ปิโตรเลียม แม้ต่อมาผู้คัดค้านได้แปรสภาพไปเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ผู้คัดค้านยังคงมีวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค และมีการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศเช่นเดิม การดำเนินกิจการของผู้คัดค้านจึงเป็นกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง หรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองจากรัฐ ผู้คัดค้านจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้ผู้คัดค้านว่าจ้างบริษัทนาแคป เอเซีย แปซิฟิก (ไทยแลนด์) จำกัด ดำเนินงานในโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย – โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ ตามสัญญาเลขที่ PTT/GAS/๒/๘/๔๘ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวกำหนดให้บริษัทนาแคปฯ ทำการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ขนาด ๓๐ นิ้ว จากสถานีควบคุมก๊าซ อาร์เอ ๖ ในตำบลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ถึงสถานีวัดปริมาตรและควบคุมความดันก๊าซที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ตามข้อกำหนดของสัญญากำหนดให้ผู้คัดค้านในฐานะคู่สัญญาฝ่ายรัฐมีอำนาจเหนือบริษัทนาแคปฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชน กรณีจึงเห็นได้ว่าสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย – โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการจัดให้มีระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงข่ายพลังงานอันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางด้านพลังงาน อันเป็นบริการสาธารณะของประเทศให้บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อโต้แย้งของคู่สัญญาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่บริษัทนาแคปฯ อ้างว่าทำงานก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาและส่งมอบให้แก่ผู้คัดค้านแล้ว แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉยไม่ชำระค่าจ้างตามสัญญา บริษัทดังกล่าวจึงเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น ทั้งนี้ตามข้อ ๑๗.๐ ของสัญญา ซึ่งคู่สัญญาตกลงกันให้มีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ภายหลังจากคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด ตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๓๘/๒๕๕๓ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๒๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๗ และแจ้งให้คู่สัญญาทราบแล้ว บริษัทนาแคปฯ ยังไม่ได้รับชำระเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทนาแคปฯ ล้มละลาย ดังนั้นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวเข้าดำเนินการจัดการทรัพย์สินของบริษัทผู้ล้มละลาย ตามมาตรา ๒๒ ประกอบกับมาตรา ๑๔๐ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นกรณีผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวเข้าดำเนินการแทนบริษัทซึ่งไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ และเมื่อข้อพิพาทที่ได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นข้อพิพาทตามสัญญาจ้างก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย – โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการดังกล่าว และเป็นศาลที่มีอำนาจบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฉบับเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๔๗/๒๕๕๗ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาและอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การบังคับหรือการเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงควรได้รับการตรวจสอบในศาลเดียวกัน ส่วนข้อที่ว่าการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายล้มละลาย อันทำให้คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับคดีล้มละลายที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) นั้น เห็นว่า การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ ผู้ล้มละลาย ยื่นคำร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นกรณีที่ผู้ร้องดำเนินการแทนบริษัทตามอำนาจหน้าที่ของตน ตามบทบัญญัติในมาตรา ๒๒ (๓) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากบริษัทนาแคปฯ ไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย บริษัทดังกล่าวก็ยังต้องใช้สิทธิทางศาลในฐานะผู้ร้องในการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเพียงผู้เข้าจัดการทรัพย์สินแทนที่บุคคลล้มละลายโดยผลของกฎหมาย ไม่อาจทำให้ลักษณะของคดีพิพาทเปลี่ยนไป เมื่อคำร้องในคดีนี้เป็นการฟ้องบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่คดีล้มละลายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลล้มละลาย ตามมาตรา ๗ ประกอบกับมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำร้องและคำคัดค้านรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทนาแคป เอเซีย แปซิฟิก (ไทยแลนด์) จำกัด วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย – โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ/ใต้ สัญญาเลขที่ พีทีที/จีเอเอส/๒/๘/๔๘ ในจำนวนเงิน ๑,๓๘๒,๘๕๖ บาท และ ๘๐,๔๑๘,๖๐๐ เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งตามสัญญามีข้อตกลงกันว่า ข้อพิพาทใดๆตามสัญญาที่เกิดขึ้นให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทผู้คัดค้านเป็นผู้ชี้ขาดและหากผู้รับจ้างประสงค์จะเสนอข้อพิพาทให้แก่อนุญาโตตุลาการ และอนุญาโตตุลาการแต่ละฝ่ายไม่อาจตกลงกันได้ ก็ให้ร้องขอต่อศาลยุติธรรมแห่งประเทศไทยแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการ วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๘ บริษัทนาแคปฯ ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าจ้างตามสัญญาให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิไปยังผู้คัดค้านแล้ว ต่อมา บริษัทนาแคปฯ ถูกผู้รับเหมาช่วงต่างๆยื่นฟ้อง เป็นคดีแพ่งรวม ๓๖ คดี คิดเป็นมูลค่า ๑,๒๖๔,๕๐๒,๗๘๐.๗๓ บาท รวมทั้งคดีของศาลแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๔๕๕/๒๕๕๐ และที่ ๕๐๕ /๒๕๕๐ ด้วย ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวได้มีหมายอายัดค่าจ้างถึงผู้คัดค้าน แต่บริษัทนาแคปฯ ยื่นคำร้องคัดค้านการอายัดค่าจ้างดังกล่าวว่า บริษัทนาแคปฯ ได้โอนค่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไปแล้วจึงไม่มีสิทธิอายัดได้ ศาลแพ่งทำการไต่สวนและมีคำสั่งว่า สิทธิเรียกร้องค่าจ้างตามสัญญาได้โอนไปยังผู้รับโอนโดยสมบูรณ์แล้ว ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามศาลชั้นต้น จากนั้นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวยื่นฟ้อง บริษัทนาแคปฯ ต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้บริษัทนาแคปฯ ล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ แต่เมื่อวันที่ ๒๖ เดือนเดียวกัน บริษัทนาแคปฯ เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งได้มีหมายเรียกบุคคลมาให้เป็นพยานแก่อนุญาโตตุลาการและมีคำสั่งแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการให้ด้วย ต่อมา คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้ผู้คัดค้านชำระค่าจ้างแก่บริษัทนาแคปฯ แต่ผู้คัดค้านไม่ชำระ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ส่วนผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๔๗/๒๕๕๗ ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคปฯ ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับผู้คัดค้านให้ชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้คัดค้านโต้แย้งว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิบังคับตามคำชี้ขาด เนื่องจากได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้รับโอนสิทธิไปแล้ว การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่เป็นไปตามสัญญา เนื่องจากเมื่อมีข้อโต้แย้งตามสัญญาต้องให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้คัดค้านวินิจฉัยชี้ขาดเสียก่อน จึงจะทำการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการได้ การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงเป็นการข้ามขั้นตอนกับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจ นอกจากนี้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีข้อผิดพลาดมากมายทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการคัดค้านอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในการพิจารณาข้อพิพาท กับคำชี้ขาดไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๙ บัญญัติว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลหรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้” เมื่อปรากฏว่าในการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งได้ออกหมายเรียกบุคคลให้มาเป็นพยานแก่อนุญาโตตุลาการ และมีคำสั่งแต่งตั้งประธานอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่ใช้อำนาจเหนือคดีนี้มาโดยตลอดและเป็นศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมจึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทนาแคป เอเซีย แปซิฟิก (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ร้อง บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share