แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 1 กับพวกต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในทางอาญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งต่อจำเลยที่ 1 เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุมิให้ยกเว้นความรับผิดทางละเมิด อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะข้อสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมโดยตรง ที่มีต่อกันในทางธุรกรรมเกี่ยวกับอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นแก้ไข
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 261,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาได้ความว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงนายธรรมชาติถึงแก่ความตาย เกิดจากการทะเลาะวิวาทระหว่างวัยรุ่น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มวัยรุ่นบ้านเด่นคาซึ่งมีจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วย กับกลุ่มวัยรุ่นบ้านเด่นวัวซึ่งมีผู้ตายรวมอยู่ด้วย โดยเริ่มวิวาทกันตั้งแต่งานบวชที่บ้านของนายต้นและนายเก่ง ต่อมาเมื่อแยกย้ายกันออกจากงานก็มีการดักใช้อาวุธปืนยิงโต้ตอบกัน จนกระทั่งกลุ่มของผู้ตายไปดักที่บริเวณปากทางขึ้นวัดดอยสวรรค์ได้พบกลุ่มของจำเลยที่ 1 ผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปกับพวกได้ถืออาวุธมีดยาวประมาณ 1 ศอก วิ่งตรงไปหากลุ่มของจำเลยที่ 1 กับพวก ผู้ตายจึงถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงเข้าที่บริเวณใบหน้า ลำคอและทรวงอกด้านหน้า ครั้นในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด คดีถึงที่สุดโดยจำเลยที่ 1 ถูกลงโทษในข้อหาฆ่าผู้อื่นฯ ตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อด. 56/2548ของศาลชั้นต้น และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1207/2551 ของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ดังนี้ จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 1 กับพวกต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในทางอาญา รวมตลอดทั้งไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งต่อจำเลยที่ 1 เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุมิให้ยกเว้นความรับผิดทางละเมิด อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะข้อสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมโดยตรงที่มีต่อกันในทางธุรกรรมเกี่ยวกับอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสามอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นแก้ไข ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ