คำวินิจฉัยที่ 46/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่า อธิบดีกรมที่ดินทำการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดิน ส.ค. ๑ และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองครอบครองอยู่ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ปัจจุบันยังมิได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอันจะเป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบสิทธิของ
ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงยังไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องคดี เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทำการรังวัดเพื่อดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและขอให้ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทนั้น ศาลจำต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๖/๒๕๕๙

วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดหลังสวน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๘ นายประทีป ทองย้อย ที่ ๑ นายอิทธิพล ทองย้อย ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๔ หมู่ที่ ๑ (๒) ตำบลปังหวาน กิ่งอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๓ งาน ๙๔.๒ ตารางวา ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกโฉนดที่ดินกับสำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพร สาขาหลังสวน ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ฉบับเดียวกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๑๗.๓ ตารางวา และที่ดินไม่มีหนังสือเอกสารสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ติดต่อกับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๔ เนื้อที่ ๖ ไร่ ๓ งาน ๖๐.๑ ตารางวา ส่วนที่สาธารณประโยชน์ที่เลี้ยงสัตว์แปลงที่ ๑๔ ตั้งอยู่ที่บ้านส้มควาย ตำบลปังหวาน กิ่งอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๑๐๐ ไร่ สภาพเป็นที่รกร้างว่างเปล่าใช้ประโยชน์เป็นที่เลี้ยงสัตว์ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ยื่นคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีโดยจังหวัดชุมพรได้ทำการรังวัดที่ดินดังกล่าวเป็น ๒ แปลง เนื่องจากทางหลวงแผ่นดินสายหลังสวน – ราชกูด ตัดผ่าน แปลงที่หนึ่งมีเนื้อที่ ๗๙ ไร่ ๑ งาน ๙๘ ตารางวา แปลงที่สองมีเนื้อที่ ๕๕ ไร่ ๑ งาน ๘๑ ตารางวา รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๑๓๔ ไร่ ๓ งาน ๗๙ ตารางวา สำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพรได้มีประกาศลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๒๙ แจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าว จังหวัดชุมพรได้มีหนังสือที่ ชพ ๐๐๒๐/๑๙๘๐๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๐ แจ้งให้ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพะโต๊ะ ทำการสอบสวนผู้สูงอายุซึ่งเคยใช้ที่สาธารณประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ความว่าที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวอยู่ที่ใด เนื่องจากผลการรังวัดดังกล่าวเขตติดต่อและเนื้อที่ไม่ตรงกับทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ประกอบกับผู้ปกครองท้องที่เห็นว่าแนวเขตที่ทำการรังวัดไว้ถูกต้องแล้ว จึงไม่ตรงกับความเห็นของผู้แทนสภาตำบลที่เห็นว่าน่าจะรังวัดผิดแปลง หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้ยื่นคำขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวใหม่ผลการรังวัดที่ดินทั้งสองแปลงได้เนื้อที่รวม ๑๖๓ ไร่ ๑ งาน ๑๙.๒๑ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีทั้งสองคัดค้านว่าการรังวัดทับที่ดินของตนและการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวไม่ถูกต้องเพราะผลการรังวัดได้แนวเขตที่ดินกับจำนวนเนื้อที่ไม่ตรงกับทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีเข้ามากระทำการอย่างใด ๆ ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง พร้อมทั้งให้นำหลักเขตออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและทำให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพเดิม
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการดำเนินการเพื่อแสดงเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ปัจจุบันยังมิได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอันจะเป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเพราะจะต้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิในที่ดินของผู้คัดค้านว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงยังไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสังกัดกรมที่ดิน จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่บัญญัติว่า ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ผู้ถูกฟ้องคดีอาจจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อแสดงเขตไว้เป็นหลักฐาน ตามแบบ หลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ ได้กำหนดว่า เมื่อทบวงการเมืองผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธาณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะยื่นคำขอให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดให้มีการสอบสวนและรังวัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินเพื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และประกาศการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้ประชาชนทราบมีกำหนดสามสิบวัน โดยปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ที่กำหนดไว้ ถ้าไม่มีผู้คัดค้านให้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่อไป ในกรณีที่มีผู้คัดค้านให้ผู้ถูกฟ้องคดีรอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้ ดังนั้น แม้การรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครองเพื่อนำไปสู่การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอันเป็นคำสั่งทางปกครองก็ตาม แต่ขั้นตอนดังกล่าวก็เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่สาธารณประโยชน์ที่เลี้ยงสัตว์ แปลงที่ ๑๔ ได้เนื้อที่ไม่ตรงกับทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์และทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้คัดค้านการรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาห้ามผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงพิพาททับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีเข้ามากระทำอย่างใด ๆ ในที่ดิน พร้อมทั้งนำหลักเขตออกจากที่ดินและทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกลับคืนสู่สถานะเดิม การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการรบกวนการครอบครองและโต้แย้งสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและการดำเนินกิจการทางปกครอง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดหลังสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐานแบบการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๕๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลปังหวาน กิ่งอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๓ งาน ๙๔.๒ ตารางวา ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ฉบับเดียวกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๑๗.๓ ตารางวา และที่ดินไม่มีหนังสือเอกสารสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๔ เนื้อที่ ๖ ไร่ ๓ งาน ๖๐.๑ ตารางวา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่สาธารณประโยชน์ ที่เลี้ยงสัตว์แปลงที่ ๑๔ ตามทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ตำบลปังหวาน กิ่งอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ ๑๐๐ ไร่ แต่ผลการรังวัดรวม ๓ ครั้งได้เนื้อที่รวม ๑๖๓ ไร่ ๑ งาน ๑๙.๒๑ ตารางวา ทับเอาที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง อันเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์ของแผ่นดิน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอยู่ในระหว่างขั้นตอนตระเตรียมการเพื่อพิจารณาออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ปัจจุบันยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง อันจะกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิใช่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ดังนั้น การจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่พิพาทหรือที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วจึงจะพิจารณาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทำการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับใช้เลี้ยงสัตว์แปลงที่ ๑๔ ตั้งอยู่ที่บ้านส้มควาย ตำบลปังหวาน กิ่งอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร โดยทำการรังวัดที่ดินพิพาททับที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๕๔ และที่ดินไม่มีหนังสือเอกสารสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองครอบครองอยู่ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของเจ้าหน้าที่เป็นการแสดงเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ปัจจุบันยังมิได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงอันจะเป็นคำสั่งทางปกครองที่กระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงยังไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องคดี เห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทำการรังวัดเพื่อดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินสาธารณประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและขอให้ห้ามผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทนั้น ศาลจำต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายประทีป ทองย้อย ที่ ๑ นายอิทธิพล ทองย้อย ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share