คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8029/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานบัญชีระดับ 5 ประจำแผนกบัญชีและการเงินของสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหน่วยงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา คงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เมื่อจำเลยเป็นพนักงานเบียดบังตัวทรัพย์ที่อยู่ในหน้าที่คือเอาทรัพย์นั้นเองเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 4, 11 และไม่ผิดมาตรา 8 เพราะไม่เป็นการที่จำเลยใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตหาประโยชน์อื่นนอกเหนือจากตัวทรัพย์นั้น โดยมิได้เอาทรัพย์นั้นไป ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้เสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 8, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 147, 157 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 3,222,024.86 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 8, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ มาตรา 4, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทระวางโทษเท่ากัน จึงลงโทษฐานเป็นพนักงานเบียดบังทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐฯ มาตรา 4 จำคุก 6 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษ และไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตำแหน่งพนักงานบัญชีระดับ 5 ประจำแผนกบัญชีและการเงิน ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนและตามที่กฎหมายกำหนด แต่จำเลยได้อาศัยโอกาสที่มีตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวร่วมกับพวกที่ทำงานคู่กันเบียดบังเอาทรัพย์ที่รับไว้ตามภาระหน้าที่เพื่อนำส่งให้แก่ผู้เสียหายไปเป็นประโยชน์ กรณีจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่างพนักงานที่มีภาระหน้าที่อย่างเช่นจำเลยจะได้ไม่กระทำความผิดอีก ดังนั้น แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจนพอใจแล้วและมีภาระที่จะต้องเลี้ยงดูบุตร หรือมีเหตุอื่นดังที่อ้างในฎีกาก็ตาม กรณีก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 8 และ 11 นั้น ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มาตรา 15 บัญญัติให้ประธานกรรมการ กรรมการ และพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามมาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 38 เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 เมื่อจำเลยเป็นพนักงานเบียดบังตัวทรัพย์ที่อยู่ในหน้าที่คือเอาทรัพย์นั้นเองเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 4, 11 และไม่ผิดมาตรา 8 เพราะไม่เป็นการที่จำเลยใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตหาประโยชน์อื่นนอกเหนือจากตัวทรัพย์นั้น โดยมิได้เอาทรัพย์นั้นไป ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้เสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 3 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share