แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์กล่าวว่า จำเลยบังอาจมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อจำหน่าย คำว่าบังอาจย่อมจะเข้าใจได้ว่า มีไว้โดยตั้งใจหรือรู้ว่าเป็นของปลอม
(อ้างฎีกาที่ 884/2484)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยบังอาจมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษ จำเลยให้การว่า ได้ธนบัตรมาจากการขายพลอย โดยไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา ๒๐๓ จำคุก ๑๐ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีผิดตามมาตรา ๒๐๓(๓) ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๖ จำคุก ๑๐ ปี แต่ฐานปราณีตามมาตรา ๕๙ คงจำคุก ๖ ปี ๘ เดือน นอกนั้นยืนตาม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อจำหน่าย จำเลยน่าจะเข้าใจฟ้องของโจทก์ดีแล้ว จึงได้ต่อสู้คดีว่า จำเลยได้มาโดยไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม คำว่า บังอาจในฟ้อง พอจะเข้าใจได้ว่า จำเลยมีไว้โดยตั้งใจ หรือรู้ว่าเป็นของปลอม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริง
พิพากษายืน