แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ ป. ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระแต่ ป. ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน1 ปีนับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของ ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อ ป. ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระอายุความ 1 ปีอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
ป. ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยจำเลยที่ 6ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ท้องที่ดังกล่าวทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินด้วยดังนี้ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26พฤศจิกายน 2535 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยหนี้เหนือบุคคลตามบทมาตราดังกล่าว โจทก์สามารถโอนคดีฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 6 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นทั้งมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น คดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาไม่
แม้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินข้อ 2 จะระบุข้อความไว้ว่า ไม่มีดอกเบี้ย แต่ข้อความตอนต้นระบุไว้ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันที่ทำสัญญา นอกจากนี้ ป. ผู้กู้ยังได้บันทึกรับรองไว้ตอนท้ายสัญญากู้ยืมว่า ถ้าหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาใน 2 ปี ยินยอมคิดดอกเบี้ยนับจากวันครบสัญญา แสดงให้เห็นว่าป. ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี)นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว หาใช่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอันที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2534 จ่าสิบเอกประจวบ จันทร์สุวรรณ สามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,700,000 บาท กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในเวลา2 ปี นับแต่วันทำสัญญา ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2535 จ่าสิบเอกประจวบถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายและจำเลยที่ 6 ต้องร่วมกันชำระต้นเงินตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยทั้งหกแล้ว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การว่า จ่าสิบเอกประจวบไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ลายมือชื่อตรงช่องของผู้กู้ยืมในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจ่าสิบเอกประจวบไว้แก่โจทก์ หนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2536จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของจ่าสิบเอกประจวบที่ตกทอดแก่ตน
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2534 จ่าสิบเอกประจวบ จันทร์สุวรรณ สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 และบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,700,000 บาท กำหนดชำระต้นเงินคืนภายในเวลา2 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 6ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวตกลงว่าถ้าจ่าสิบเอกประจวบไม่ชำระหนี้หรือถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 6 ยอมรับผิดชำระหนี้แทน สัญญากู้ดังกล่าวทำที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 6 ก็อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2535 จ่าสิบเอกประจวบถึงแก่ความตาย โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหกชำระหนี้แต่จำเลยทั้งหกไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535คดีมีปัญหาข้อกฎหมายมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 6 ข้อแรกว่า คดีอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26พฤศจิกายน 2535 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งตามบทมาตราดังกล่าวโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 6 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นทั้งมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้น คดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาดังที่จำเลยที่ 6 กล่าวอ้างมาในฎีกาไม่ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยที่ 6 กล่าวอ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ขณะหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จ่าสิบเอกประจวบจันทร์สุวรรณ ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่จ่าสิบเอกประจวบได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปีนับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของจ่าสิบเอกประจวบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อจ่าสิบเอกประจวบถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระอายุความ 1 ปี อาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่าแม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 จะระบุข้อความไว้ว่า ไม่มีดอกเบี้ยแต่ข้อความตอนต้นก็ระบุไว้ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญานอกจากนี้จ่าสิบเอกประจวบยังได้บันทึกรับรองไว้ในตอนท้ายของสัญญากู้ยืมเงินว่า ถ้าหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาใน 2 ปี ยินยอมคิดดอกเบี้ยนับจากวันครบสัญญา ดังนี้แสดงให้เห็นว่าจ่าสิบเอกประจวบยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี) นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวหาใช่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอันที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ตามที่จำเลยที่ 6 กล่าวอ้างมาในฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาเกินคำขอไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 6 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน