แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 กำหนดวิธีการเยียวยาแก้ไขด้วยกระบวนการบังคับบำบัด กล่าวคือ หากเป็นผู้ต้องหาในความผิดยาเสพติดที่กำหนด พนักงานสอบสวนต้องนำตัวไปศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ควบคุมตัวที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้อง ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วส่งสำนวนสอบสวนไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้พนักงานอัยการทราบว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานอัยการทราบ ในกรณีเช่นว่านี้ให้พนักงานอัยการมีคำสั่งชะลอการฟ้องไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ถ้าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเห็นว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามแผนการฟื้นฟูและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหา คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก็จะมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไปแล้วแจ้งให้พนักงานอัยการทราบ พนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องดำเนินคดี หากเห็นว่าผู้ต้องหาซึ่งได้รับแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ไม่มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้รับรายงานความเห็นจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยคงปรากฏเพียงคำร้องขอฝากขัง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตตลอดมาและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนจนเสร็จก่อนส่งสำนวนให้โจทก์ฟ้องก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ผ่านกระบวนการบังคับบำบัดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะคดีมีการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้วนั้น เป็นกระบวนการฟ้องคดีตามกฎหมายทั่วไป ไม่อาจนำมาใช้กับคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 วางหลักการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไว้ว่า กรณีผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภทและปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่ มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้กำหนดวิธีการเยียวยาแก้ไขด้วยกระบวนการบังคับบำบัด กล่าวคือ หากเป็นผู้ต้องหาในความผิดยาเสพติดที่กำหนด พนักงานสอบสวนต้องนำตัวไปศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ควบคุมตัวที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้อง ในระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ แล้วส่งสำนวนสอบสวนไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งผู้ต้องหาไปด้วย และแจ้งให้พนักงานอัยการทราบว่าผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานอัยการทราบ ในกรณีเช่นว่านี้ให้พนักงานอัยการมีคำสั่งชะลอการฟ้องไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ถ้าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเห็นว่า ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามแผนการฟื้นฟูและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแล้วให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหา คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก็จะมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไปแล้วแจ้งให้พนักงานอัยการทราบ พนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องดำเนินคดี หากเห็นว่าผู้ต้องหาซึ่งได้รับแจ้งผลการตรวจพิสูจน์ไม่มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้หรือได้รับรายงานความเห็นจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น เมื่อในสำนวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังที่โจทก์อ้างในฎีกา โดยคงปรากฏเพียงคำร้องขอฝากขัง ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตตลอดมาและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนจนเสร็จก่อนส่งสำนวนให้โจทก์ฟ้องก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ผ่านกระบวนการบังคับบำบัดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะคดีมีการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 แล้วนั้น เป็นกระบวนการฟ้องคดีตามกฎหมายทั่วไป ไม่อาจนำมาใช้กับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน