แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาด้วย ซึ่งมีผลว่าคดีจำเลยที่ 2 มีมูลคำสั่งดังกล่าวย่อมเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 จำเลยที่ 2ฎีกาไม่ได้ จึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 เห็นว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ยังไม่ถึงที่สุดเพราะหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าถึงที่สุดไม่ กรณีคำสั่งมีมูลของศาลจะถึงที่สุดนั้นต้องเป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นเท่านั้น จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 40 แผ่นที่ 4)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2ไม่มีมูล ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 33)
จำเลยที่ 2 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 39)
คำสั่ง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 บัญญัติให้ผลของคำสั่งศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องที่ให้คดีมีมูลเป็นอันเด็ดขาด คงให้โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาเฉพาะคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลเท่านั้นฉะนั้น ในกรณีคดีนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 อันย่อมมีผลว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มีมูล จึงย่อมอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติดังกล่าวที่ให้คำสั่งศาล ที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของจำเลยที่ 2จึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง