แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดียักยอก โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำผิดเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2489 และต่อ ๆ มา จนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2489 แต่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทำผิดก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2489 ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์สืบได้ย่อมต่างกับฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้เข้าหุ้นส่วนกันค้าฝิ่นโดยได้รับอนุญาตให้ตั้งร้านจำหน่ายฝิ่น โจทก์ ๒ คนลงเงิน จำเลยลงแรงเป็นหุ้น จำเลยมีหน้าที่เป็นผู้จัดการซื้อและจำหน่ายฝิ่น รับมอบรักษาเงินและทรัพย์สินของหุ้นส่วน จำเลยได้รับมอบเงิน ๑๕๐๐๐ บาทไว้เพื่อดำเนินการ ต่อมาดูท่าทีจำเลยจัดการไม่เรียบร้อย ได้มีการตรวจสอบบัญชี ผลของการตรวจสอบถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๙ ทำให้โจทก์รู้สึกว่าจำเลยเจตนาทุจริตยักยอกเอาเงิน ๑๕๐๐๐ บาท และกำไรของหุ้นส่วนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียเริ่มตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๙ ต่อ ๆ มาจนถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๙ ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๕, ๓๑๙(๓) ก.ม.ลักษณะอาญา
ศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องเพราะไม่ยืนยันชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำผิดวันใด แม้จะฟังว่าฟ้องใช้ได้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์สืบได้ว่าทรัพย์สินของหุ้นส่วนขาดบัญชีไปก่อน๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๙ จึงต่างกับฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ส่วนที่ฟ้องว่าจำเลยทำผิดระหว่าง ๓๐ มิถุนายน ถึง ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๙ โดยโจทก์ตรวจสอบบัญชีตั้งแต่มกราคม ถึง มิถุนายน ๒๔๘๙ วันที่จำเลยกระทำผิดไม่ต่างกับฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อเท็จจริงแล้วว่า โจทก์นำสืบว่าทรัพย์สินของหุ้นส่วน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยได้สูญหายขาดบัญชีไปก่อนวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๙ และศาลอุทธรณ์ชี้ขาดว่า โจทก์ตรวจสอบบัญชีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ๒๔๘๙ จึงอยู่ในเขตต์วันที่จำเลยทำผิด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำผิดตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๘๙ ถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๘๙ โจทก์ไม่ได้กล่าวหรือบรรยายในฟ้องว่า จำเลยทำผิดก่อนวันดังกล่าวนั้น ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า ผิดถูกประการใด
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ