แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป. ซึ่งรู้ตัวดีว่าตนเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษและเคยเข้ารับการตรวจรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาก่อน ได้ขอเอาประกันชีวิตต่อจำเลย ตัวแทนผู้หาประกันของจำเลยจัดให้แพทย์มาตรวจ ร่างกายของ ป. เพื่อทำรายงาน ให้จำเลยประกอบการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิต ป. หรือไม่ เช่นนี้แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป.ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลย จะถือว่าจำเลยผู้รับประกันภัยทราบว่า ป.เคยตรวจและรักษาโรคต่าง ๆ มาก่อนเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ได้ เมื่อ ป. ปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพสัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิตนางประจวบ แสงสุริฉาย เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยให้การว่า นางประจวบผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพ สัญญาตามฟ้องเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างแล้วขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกัน ฟังได้ว่า นางประจวบ แสงสุริฉาย ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2521 ตามเอกสารหมาย ป.จ.3 นางประจวบตายเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2524 ซึ่งเป็นระยะเวลาอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิต โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้รับประโยชน์ได้ทำหนังสือแจ้งการตายของนางประจวบและขอรับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตนางประจวบ อ้างว่านางประจวบปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะจำเลยขอบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าว สัญญาประกันชีวิตนางประจวบตกเป็นโมฆะและข้อเท็จจริงฟังได้ต่อไปว่า นางประจวบเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เคยรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน2520 ได้รักษาตัวอยู่เรื่อยและมีโรคแทรกซ้อนมีอาการใจสั่นเหนื่อยง่าย ทั้งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2521 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนนางประจวบทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลย นางประจวบได้ไปรักษาตัวเกี่ยวกับโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษอีก
ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า นางประจวบเคยเข้ารับการรักษาตัวจากคลีนิคและโรงพยาบาลด้วยโรคทั่ว ๆ ไป ซึ่งแพทย์ไม่ได้บอกว่านางประจวบเป็นโรคอะไร เพราะการเข้ารักษาตัวดังกล่าวของนางประจวบไม่เคยพักค้างรักษาแต่อย่างใดนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่านางประจวบได้รับการตรวจและรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2520และรักษาตัวเรื่อยมา แม้วันที่ 4 กันยายน 2521 ก็ไปตรวจรักษาโรคดังกล่าวที่โรงพยาบาลศิริราชอีก การรักษาตัวเป็นระยะเวลานานเช่นนี้เชื่อว่า นางประจวบรู้ตัวดีว่าตนเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวที่มีความหมายทำนองว่า นางประจวบไม่รู้ว่าตนเป็นโรคอะไรและไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของตนนั้นฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า แพทย์หญิงชมชื่น กำเนิดศิริเป็นแพทย์ที่จำเลยจัดหามาให้ตรวจร่างกายนางประจวบ เพื่อทำรายงานประวัติสุขภาพตามเอกสารหมาย ป.ล.2 นั้น เคยตรวจรักษานางประจวบมาก่อน ย่อมถือได้ว่าจำเลยทราบมาก่อนว่านางประจวบเคยป่วยและรักษาตัว จึงถือไม่ได้ว่านางประจวบปิดบังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของตน ทั้งจำเลยหาได้ถือเรื่องสุขภาพของนางประจวบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแพทย์หญิงชมชื่นมิได้ตรวจร่างกายนางประจวบอย่างละเอียดถี่ถ้วนนั้น เห็นว่า แพทย์หญิงชมชื่นเป็นเพียงแพทย์ที่นางสาวสัตยา คงคาชัย ตัวแทนของจำเลยจัดหามาตรวจร่างกายนางประจวบเพื่อทำรายงานเอกสารหมาย ป.ล.2 เพื่อให้จำเลยประกอบการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิตนางประจวบหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่ตัวแทนจำเลย ดังนั้นจะถือว่าจำเลยทราบว่านางประจวบเคยตรวจและรักษาโรคต่าง ๆ มาก่อน เช่นเดียวกับแพทย์หญิงชมชื่นย่อมไม่ได้ทั้งจะฟังว่าจำเลยมิได้ถือเรื่องสุขภาพของนางประจวบเป็นเรื่องสำคัญหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน