คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11332/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล บุตรของโจทก์ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่นั่งซ้อนท้ายชนแผงเหล็กกั้นทางโค้งปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก และผู้ขับขี่ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ บุตรของโจทก์มีอาการเจ็บปวด มีภาวะการบอบช้ำของสมองและโลหิตออกในสมอง จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แม้ไม่ปรากฏบาดแผลร้ายแรงที่มองเห็นจากภายนอก แต่พยาบาลเวรซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยกลับให้ผู้ช่วยพยาบาลตรวจค้นหลักฐานในตัวบุตรของโจทก์ว่ามีบัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ 30 บาท หรือบัตรประกันชีวิตหรือไม่ เมื่อไม่พบหลักฐานใด จึงสอบถามเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิที่เป็นผู้นำส่งว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เมื่อไม่มีคำตอบ จึงปฏิเสธที่จะรับบุตรของโจทก์ไว้รักษา โดยแนะนำให้ไปรักษายังโรงพยาบาลของรัฐ การที่พยาบาลเวรลูกจ้างของจำเลยปฏิเสธไม่รับบุตรของโจทก์เข้ารับการรักษาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 แต่กลับไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 11,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีบันทึกถ้อยคำของนายมานะที่ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 เห็นว่า นายมานะเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้โจทก์จะมีเพียงบันทึกถ้อยคำของนายมานะ ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า แต่เหตุที่โจทก์ไม่สามารถนำนายมานะมาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากนายมานะถึงแก่ความตายไปก่อน โดยโจทก์มีนายพิศักดิ์ ทันตแพทย์ 8 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเบิกความเป็นพยานว่าได้ให้นายมานะตรวจดูบันทึกถ้อยคำด้วยตนเอง เห็นว่าถูกต้องจึงให้ลงลายมือชื่อไว้ นอกจากนี้นายมานะยังให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนชุดที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข มีรายละเอียดทำนองเดียวกับที่ให้ถ้อยคำไว้ ส่วนพยานจำเลย ได้แก่ นางนพรัตน์และนายสุเทพ เป็นพนักงานของจำเลย มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนางนพรัตน์ยังถูกสภาการพยาบาลลงโทษพักใช้ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีกำหนดเวลาหนึ่งปี คำเบิกความของนางนพรัตน์และนายสุเทพจึงมีน้ำหนักน้อย ทั้งหากนางสาวกนกพรปฏิเสธที่จะรับการรักษาจริงก็ไม่มีเหตุที่นางนพรัตน์จะต้องให้ผู้ช่วยพยาบาลตรวจค้นหลักฐานในตัวนางสาวกนกพรว่ามีบัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ 30 บาท หรือบัตรประกันชีวิตหรือไม่ตามที่นางนพรัตน์เบิกความ แต่กลับสอดคล้องกับคำให้การของนายมานะว่าเห็นพยาบาลค้นตัวนางสาวกนกพร และได้ยินพยาบาลถามว่าค่าใช้จ่ายใครจะรับผิดชอบ ซึ่งน่าเชื่อว่าเมื่อพยาบาลตรวจค้นตัวผู้ตายไม่พบหลักฐานว่าผู้ตายเป็นใคร จึงได้สอบถามถึงค่าใช้จ่าย เมื่อไม่มีคำตอบจึงได้ปฏิเสธที่จะรับนางสาวกนกพรไว้รักษา โดยแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางนพรัตน์พยาบาลเวรของโรงพยาบาลแพทย์รังสิตของจำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับนางสาวกนกพรซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ชนแผงกั้นเหล็กไว้รักษา ดังนั้นการที่นางสาวกนกพรได้รับบาดเจ็บจากการที่นางสาวภีมพัศขับรถจักรยานยนต์ชนแผงเหล็กปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก เป็นเหตุให้นางสาวภีมพัศถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ส่วนนางสาวกนกพรได้ความจากบันทึกถ้อยคำของนายมานะว่า นอนร้องเอะอะโวยวายในลักษณะเจ็บปวดอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ 10 เมตร ซึ่งนางนพรัตน์พยานจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าได้แจ้งให้แพทย์เวรทราบ แพทย์เวรบอกว่าคนไข้อาจมีภาวะเสี่ยง การบอบช้ำของสมองและมีโลหิตออกในสมอง แสดงว่านางสาวกนกพรจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีแม้จะไม่ปรากฏบาดแผลร้ายแรงที่มองเห็นจากภายนอก ซึ่งสาเหตุที่นางสาวกนกพรถึงแก่ความตายได้แก่ กะโหลกศีรษะแตก สมองช้ำ จากของแข็งไม่มีคม ดังนั้นแม้นายมานะจะมิได้นำนางสาวกนกพรส่งโรงพยาบาลอื่นหลังจากออกจากโรงพยาบาลแพทย์รังสิตในทันที โดยนายมานะนำนางสาวกนกพรไปถึงโรงพยาบาลปทุมธานีในเวลา 5.30 นาฬิกา แต่ปรากฏว่านางสาวกนกพรถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งสาเหตุของการล่าช้าดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้นางสาวกนกพรถึงแก่ความตายด้วยก็ตาม แต่การที่นางนพรัตน์ปฏิเสธไม่รับนางสาวกนกพรเข้ารับการรักษาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้นางสาวกนกพรถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของนางนพรัตน์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ และตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 แต่กลับไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของนางนพรัตน์ดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใด สำหรับค่าเสียหายประการแรกได้แก่การที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถานพยาบาลดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในการปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าวเอาจากจำเลยได้ จึงไม่กำหนดให้ ส่วนค่าเสียหายประการต่อไปได้แก่ค่าขาดไร้อุปการะ โจทก์ทั้งสองขอมาปีละ 400,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 8,000,000 บาท เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนางสาวกนกพรอายุ 22 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนโจทก์ทั้งสองอายุ 48 ปี ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,500,000 บาท ค่าเสียหายประการสุดท้ายได้แก่ค่าปลงศพ โจทก์ทั้งสองขอมาเป็นเงิน 200,000 บาท โจทก์ทั้งสองนำสืบแต่เพียงลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานการใช้จ่ายในการจัดงานศพของนางสาวกนกพรมานำสืบสนับสนุน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งสองประกอบอาชีพค้าขาย มีบุตร 3 คน รวมทั้งนางสาวกนกพรผู้ตาย บุตรทั้งสามคนของโจทก์ทั้งสองต้องกู้เงินมาใช้จ่ายในการศึกษา เมื่อพิจารณาถึงฐานะของโจทก์ทั้งสองแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสมควรเป็นเงิน 100,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,600,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,600,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมศาลทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสองเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นฎีกานี้ โดยในส่วนของค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสอง ส่วนค่าทนายความทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share