คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 242/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่อธิบดีกรมแรงงานอนุญาตให้นายจ้างมีสิทธิสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายได้นั้น นายจ้างกับลูกจ้างย่อมทำสัญญาให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาและจ่ายค่าจ้างกันเท่าใดก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอมทำงานวันละ 12 ชั่วโมงโดยรับค่าจ้างเป็นรายเดือนอันมิใช่เป็นกรณีที่นายจ้างเพิ่มชั่วโมงทำงานในภายหลังและไม่ปรากฏว่าค่าจ้างต่ำกว่าอันตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ข้อตกลงนี้ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและผูกพันลูกจ้างกับนายจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งยามสถานีรถไฟได้ค่าจ้างเหมารายเดือน ทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมงซึ่งเป็นการขยายเวลาทำงานปกติจากวันละ ๙ ชั่วโมงเป็นวันละ ๑๒ ชั่วโมง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับเวลาทำงานที่เกินเวลาทำงานปกติวันละ ๓ ชั่วโมงให้แก่โจทก์ จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าของค่าจ้างดังกล่าวทุกระยะเจ็ดวันขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและดอกเบี้ย และให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าของเงินค่าจ้างทุกระยะเจ็ดวันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า กิจการของจำเลยเป็นงานขบวนการจัดงานรถไฟและขนส่ง จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงานให้มีสิทธิให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติแล้ว โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างรายวันต่อมาได้รับการปรับค่าจ้างเหมาเป็นรายเดือนแล้วได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประเภทอัตรากำลังโดยกำหนดเวลาทำงานปกติวันละ ๑๒ ชั่วโมงได้รับค่าจ้างเหมารายเดือนค่าจ้างเหมาเป็นรายเดือนเป็นค่าตอบแทนการทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมงของโจทก์ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้นายจ้างจะไม่มีอำนาจสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินวันละ ๘ ชั่วโมงตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓ (๒) ก็ตาม แต่กรณีที่อธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยมีสิทธิสั่งให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติตามอำนาจที่ให้ไว้ในประกาศกระทรวมมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔ แล้ว กำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของข้อ ๓ (๒) อีก นายจ้างลูกจ้างย่อมมีอำนาจที่จะทำสัญญาจ้างแรงงานโดยกำหนดให้ลูกจ้างทำงานวันละกี่ชั่วโมงหรือนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างกันเท่าใดก็ได้ การที่โจทก์ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประเภทอัตรากำลังโดยยินยอมที่จะทำงานให้แก่จำเลยวันละ ๑๒ ชั่วโมงและรับค่าจ้างเป็นรายเดือน เป็นความสมัครใจของนายจ้างลูกจ้างเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้นั้นต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ข้อตกลงย่อมผูกพันโจทก์และกรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเพิ่มชั่วโมงการทำงานของโจทก์ในภายหลังทั้งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ก็มิได้กำหนดว่าค่าจ้างซึ่งตกลงจ่ายกันเป็นรายเดือนนั้นเป็นค่าจ้างเฉพาะกำหนดเวลาทำงานปกติตามกฎหมายเท่านั้น ข้อตกลงของโจทก์จำเลยจึงไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายค่าจ้างเป็นรายเดือนย่อมเป็นค่าจ้างสำหรับเวลาทำงานวันละ ๑๒ ชั่วโมงของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเพิ่มจากจำเลย
พิพากษายืน

Share