คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9686/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสัญญาเช่าเรือข้อ 21 ที่กำหนดว่า หากจำเลยใช้เวลาในการนำสินค้าบรรทุกลงเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเกิน 6 วัน จำเลยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมความล่าช้า (Demurrage) แม้ตามสัญญาเช่าเรือข้อ 24 จะมิได้กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ แต่ปัญหาว่าจำเลยใช้เรือล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดอันเป็นผลให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงในสัญญาเช่าเรือดังกล่าว เมื่อสัญญาข้อ 24 กำหนดให้ระงับข้อพิพาทด้วยการอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 695,625.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 608,698.26 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ขนส่งและขนถ่ายสินค้าทางน้ำ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยทำสัญญาเช่าเรือลากจูงชื่อ ฟากฟ้าสมุทร และเรือขนส่งสินค้าชื่อ สินทรัพย์สมุทร จากโจทก์เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าแร่แบไรต์ จากท่าเรือกรุงเทพ ประเทศไทย ไปยังท่าเรือกวนตัน ประเทศมาเลเซีย ในอัตราค่าเช่า 12.50 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเมตริกตัน โดยบรรทุกสินค้าแร่แบไรต์ลงเรือเป็นกองอย่างน้อยหกพันตัน บวก 10 พีซีที โดยสัญญาเช่าเรือมีกำหนดระยะเวลาการเช่าจำนวน 3 วัน คือ ระหว่างวันที่ 25 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2553 ตามสัญญาเช่าเรือพร้อมคำแปล โจทก์ส่งมอบเรือทั้งสองลำแก่จำเลยตามสัญญาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 17 นาฬิกา โจทก์ตกลงให้จำเลยมีเวลานำสินค้าบรรทุกลงเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือรวม 6 วัน ไม่นับรวมเวลาที่เรือใช้ในการเดินทางจากท่าเรือต้นทางไปยังท่าเรือปลายทาง จำเลยได้ส่งมอบเรือทั้งสองลำคืนโจทก์เมื่อขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือปลายทางเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 21 มีนาคม 2553
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ต้องนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการก่อนตามสัญญา ข้อ 24 หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์อุทธรณ์ว่า การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการใช้บังคับเฉพาะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากรายละเอียดที่ระบุไว้ตามสัญญาเช่าเรือ ส่วนการใช้เรือเกินเวลาไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาเช่าเรือ จึงไม่จำต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อน เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทในสัญญาเช่าเรือ ข้อ 24 ระบุว่า “In case any dispute arises due to the implementation, both parties shall agree to settle such dispute amicably. If amicable settlement cannot be reached, both parties agree to settle such dispute by an International Court of Arbitration (Singapore Court of Arbitration)” ซึ่งมีคำแปลท้ายเอกสารความว่า ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นในการดำเนินการ (ตามสัญญา) ทั้งสองฝ่ายตกลงกันที่จะแก้ไขข้อพิพาทกันฉันมิตร หากไม่สามารถแก้ไขได้อย่างฉันมิตร ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขข้อพิพาทโดยคณะอนุญาโตตุลาการของศาลอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทกันทางอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 แม้ตามสัญญาเช่าเรือข้อ 24 จะไม่ได้ระบุถึงวิธีการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับความล่าช้าในการใช้เรือไว้โดยเฉพาะก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าว ข้อ 5 “Laytime for loading and discharging” กำหนดว่า “Bend 6 days” ซึ่งจากคำแปลท้ายสัญญา หมายความว่า โจทก์มีหน้าที่นำเรือมายังท่าเรือต้นทางภายในช่วงวันดังกล่าวเพื่อให้จำเลยนำสินค้าบรรทุกลงเรือ จำเลยมีเวลาที่จะใช้ในการนำสินค้าบรรทุกลงเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือรวม 6 วัน มิฉะนั้นจำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมความล่าช้า (Demurrage) ตามสัญญาข้อ 21 ซึ่งจากคำฟ้องเห็นได้ว่า โจทก์อาศัยข้อสัญญาดังกล่าวในการใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลย และจำเลยได้ให้การต่อสู้หลายประการ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากข้อสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่มีข้อโต้แย้งกันเกิดขึ้น ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยใช้เรือล่าช้าเกินเวลาที่กำหนดอันเป็นผลให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าธรรมเนียมจากความล่าช้าแก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาจากเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาเช่าเรือหลายข้อประกอบกันดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่จะทำให้ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 24 นี้เป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการก่อนตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเสียก่อน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ต้องเสนอคณะอนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยก่อน และขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เป็นอุทธรณ์ที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาล 19,912 บาท เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงให้คืนส่วนที่เกินดังกล่าวแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้โจทก์กึ่งหนึ่ง และคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินกว่า 200 บาท ให้แก่โจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share