คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6595/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมไม่ลงวันเดือนปีในการทำพินัยกรรมจึงมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1705ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายเสมือนหนึ่งมิได้มีการทำพินัยกรรมไว้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าท.บิดาผู้คัดค้านที่1เป็นบุตรของผู้ตายได้ตายก่อนผู้ตายผู้คัดค้านที่1ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแทนที่บิดาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1711และ1713ดังนั้นเมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่1เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเจ้าของมรดกได้ทำพินัยกรรมทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่2แต่ผู้เดียวก็ตามก็ยังไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนผู้คัดค้านที่1จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1727

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายแกด ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายทองสวางกับนางนงเยาว์นายทองสวาทเป็นบุตรของนายแกดกับนางหลุ่มเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายแกด เมื่อนายทองสวาทถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายทองสวาท ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องมีเจตนาจงใจซ่อนเร้นปิดบังทายาท โดยไม่ระบุผู้คัดค้านที่ 1 และพี่น้องของผู้คัดค้านที่ 1 ในบัญชีเครือญาติ ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ทราบเรื่องที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกพฤติการณ์ของผู้ร้อง จึงไม่สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของนายแกด ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสมปอง ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายแกดผู้ตาย
นายล้วน ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2เป็นบุตรของนายแกดเจ้ามรดกกับนางหลุ่ม กรอบแก้วที่ดินนาที่ร้องขอจัดการมรดกนั้น เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แต่ผู้เดียว ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1พ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องมิได้กล่าวอ้างว่า นายสมปองผู้จัดการมรดกไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดก หรือมีเหตุอื่นใดอันจะเป็นเหตุให้ขอเพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727 แม้จะอ้างว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้ไว้ก่อนผู้จัดการมรดกก็จะต้องจัดการมรดกตามพินัยกรรมอยู่แล้วให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้าน ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้คัดค้าน ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1655บัญญัติว่า “พินัยกรรมนั้นจะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้” มาตรา 1656 บัญญัติว่า “พินัยกรรมนั้นจะทำตามแบบดั่งนี้ก็ได้กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปีในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น” เห็นได้ว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว พินัยกรรมจะต้องทำตามแบบ แบบของพินัยกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือนปี ในขณะที่ทำ แต่ตามสำเนาพินัยกรรมท้ายคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ลงวัน เดือน ปี ในการทำพินัยกรรม พินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย เสมือนหนึ่งมิได้มีการทำพินัยกรรมไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายทองสวาทบิดาผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของผู้ตายได้ตายก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกแทนที่บิดา จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711 และ 1713 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 ก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนผู้คัดค้านที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727
พิพากษายืน

Share