คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีไดเมทิลแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นไอโซเมอร์ของเอ็น-เอทิลแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่โจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามที่ฟ้องไว้ คงอ้างเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) ซึ่งเป็นประกาศระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์เท่านั้น และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 104 (พ.ศ.2541) เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ใช้อยู่ในขณะมีการกระทำความผิดก็ไม่มีระบุว่า ไดเมทิลแอมเฟตามีน หรือเอ็น-เอทิลแอมเฟตามีน อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา106 ทวิ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62, 106 ทวิ ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่างแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดเฉพาะข้อหามีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าวซึ่งมีโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ (ที่ถูก จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89) ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 20 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี และปรับ 200,000 บาท จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานจำหน่าย (ที่ถูก ขาย) วัตถุออกฤทธิ์ ให้ลงโทษจำคุก 20 ปี และปรับ 400,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกินสองปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีไดเมทิลแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางจำนวน 1 ถุง หนัก 915.900 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 847.757 กรัม ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทคมกฤช ดาบตำรวจสัมพันธ์ และนายเรืองฤทธิ์ เบิกความ แต่ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความในข้อสาระสำคัญแตกต่างกัน เห็นว่า การที่ถุงพลาสติกสีเขียววางอยู่ตรงระหว่างขาของจำเลยที่ 2 ตามที่ร้อยตำรวจโทคมกฤชเบิกความกับการที่จำเลยที่ 2 ถือถุงพลาสติกสีเขียววางอยู่บนตักดังที่ดาบตำรวจสัมพันธ์เบิกความ และการที่ถุงพลาสติกวางอยู่ข้างตัวจำเลยที่ 2 ตามที่นายเรืองฤทธิ์เบิกความย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวเบิกความแตกต่างกันเช่นนี้จึงเป็นพิรุธว่า ขณะที่ถูกตรวจค้นจำเลยที่ 2 นำถุงพลาสติกสีเขียวมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ดังที่พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความจริงหรือไม่ หรือถุงพลาสติกสีเขียวดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ตรงบริเวณรักแร้ด้านซ้ายของจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความ อีกทั้งหากขณะนั้นถุงพลาสติกสีเขียวอยู่กับจำเลยที่2 และจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าภายในถุงดังกล่าวเป็นไดเมทิลแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุดรถเพื่อขอตรวจค้น จำเลยที่ 2 ก็น่าจะรีบนำถุงพลาสติกสีเขียวดังกล่าวซุกซ่อนหรือส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้พ้นตัวโดยเร็ว แต่จำเลยที่ 2 หาได้ทำเช่นนั้นไม่และที่จำเลยที่ 2 เพิ่งนำถุงพลาสติกสีเขียวดังกล่าวส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ในขณะที่จะถูกตรวจค้นตัวก็อาจจะเป็นเพราะ ว่าจำเลยที่ 2 เริ่มคิดและไม่แน่ใจว่าของที่อยู่ในถุงเป็นของผิดกฎหมายหรือไม่ก็เป็นได้ กรณีถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่าภายในถุงพลาสติกสีเขียวดังกล่าวมีวัตถุออกฤทธิ์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้โดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันมีไดเมทิลแอมเฟตามีนซึ่งเป็นไอโซเมอร์ของเอ็นเอทิลแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62, 106 ทวิ แต่โจทก์มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามที่ฟ้องไว้ คงอ้างเฉพาะประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) ซึ่งเป็นประกาศระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์เท่านั้น นอกจากนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 104 (พ.ศ.2541) เรื่อง กำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ที่ใช้อยู่ในขณะมีการกระทำความผิด ก็ไม่มีระบุว่า ไดเมทิลแอมเฟตามีน หรือเอ็นเอทิลแอมเฟตามีนอยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนดปริมาณการมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ไว้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าวได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าวมานั้น เป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62, 106 ทวิ ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และ 106 วรรคหนึ่ง อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 คงเป็นความผิดเฉพาะข้อหามีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าว ซึ่งมีโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 5 ปี และปรับ 100,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share