คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9654/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเรื่องเดิมเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยตกเป็นคนล้มละลายเพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่มีอยู่ทั้งหมดแบ่งปันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยทุกคนที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และการที่ศาลจะต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยตกเป็นคนล้มละลายนั้นก็ต่อเมื่อปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า50,000บาทและหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือหนี้ในอนาคตก็ตามอีกทั้งกระบวนพิจารณาต่างๆที่ก่อนศาลจะพิพากษาคดีและภายหลังที่พิพากษาคดีไปแล้วมีการกำหนดวิธีการแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างมากซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช2483ที่กำหนดไว้หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการฟ้องคดีล้มละลายเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์สินของจำเลยโดยเจ้าพนักงานของรัฐที่เรียกว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าจัดการทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์ของบรรดาเจ้าหนี้ทั่วๆไปของจำเลยและเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของจำเลยเสียใหม่โดยมิได้เป็นการฟ้องหรือเรียกร้องให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามมูลหนี้ที่ฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงอันเป็นเรื่องของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อันเป็นการฟ้องให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง2ฉบับด้วยจำนวนเงิน550,000บาทพร้อมอัตราดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์คนเดียวเท่านั้นโดยต้องวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเห็นว่าการฟ้องคดีนี้เป็นคนละเรื่องกับการฟ้องคดีล้มละลายดังกล่าวดังนั้นฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงมิได้เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173วรรคสอง(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารออมสินสาขาราชประสงค์ซึ่งเป็นเช็คผู้ถือจำนวน 2 ฉบับ ให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ เช็คฉบับแรกเลขที่ 062494 ลงวันที่ 20 มกราคม 2534จำนวนเงิน 400,000 บาท เช็คฉบับที่ 2 เลขที่ 062492 ลงวันที่7 ธันวาคม 2533 จำนวนเงิน 200,000 บาท เมื่อวันที่22 มกราคม 2534 โจทก์ได้นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ พาณิชย์การ จำกัดสาขาราษฎร์บูรณะ เพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยเหตุผลเดียวกันว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายจำเลยเคยชำระหนี้ตามเช็คฉบับที่ 2 ให้แก่โจทก์บางส่วนจำนวน 50,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามเช็คฉบับแรกจำนวน 400,000 บาท และเช็คฉบับที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 150,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเช็คฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2534 เช็ค ฉบับที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นการค้ำประกันค่าซื้อที่ดิน เช็คพิพาทฉบับแรกเป็นการค้าประกันค่าซื้อที่ดินจากนางศศิณี ฮุนตระกูล เช็คพิพาทฉบับที่ 2 เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อที่ดินให้แก่นางสาวฉอ้อน ทันสมัย ต่อมาไม่มีการซื้อที่ดินและได้ยกเลิกเช็คทั้งสองฉบับแล้ว แต่โจทก์ผัดผ่อนไม่ยอมคืนเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้จำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์และไม่เคยชำระเงิน50,000 บาทแก่โจทก์ โจทก์เคยนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายที่ศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ล.534/2534 คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่ง ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีล้มละลายดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 550,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (22 มกราคม2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 36,604 บาท
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ซึ่งฉบับแรกเป็นเช็คธนาคารออมสินสาขาราชประสงค์ เลขที่ 062494 ลงวันที่ 20 มกราคม 2534 สั่งจ่ายจำนวน 400,000 บาท เช็คฉบับที่ 2 เป็นเช็คธนาคารออมสินสาขาราชประสงค์เลขที่ 062492 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2533 จำนวน200,000 บาท ต่อมา วันที่ 22 มกราคม 2534 โจทก์ได้นำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ล.534/2534 ของศาลแพ่ง หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า”นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ” เห็นว่า ฟ้องเรื่องเดิมเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยตกเป็นคนล้มละลายเพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่มีอยู่ทั้งหมดแบ่งปันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยทุกคนที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ และการที่ศาลจะต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยตกเป็นคนล้มละลายนั้นก็ต่อเมื่อปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 บาทและหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือหนี้ในอนาคตก็ตาม อีกทั้งกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่ก่อนศาลจะพิพากษาคดีและภายหลังที่พิพากษาคดีไปแล้ว มีการกำหนดวิธีการแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างมาก ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ที่กำหนดไว้หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการฟ้องคดีล้มละลายเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์สินของจำเลยโดยเจ้าพนักงานของรัฐที่เรียกว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าจัดการทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์ของบรรดาเจ้าหนี้ทั่ว ๆ ไป ของจำเลยและเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของจำเลยเสียใหม่ โดยมิได้เป็นการฟ้องหรือเรียกร้องให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามมูลหนี้ที่ฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงอันเป็นเรื่องของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อันเป็นการฟ้องให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ด้วยจำนวนเงิน 550,000 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์คนเดียวเท่านั้น โดยต้องวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเห็นว่าการฟ้องคดีนี้เป็นคนละเรื่องกับการฟ้องคดีล้มละลายดังกล่าวดังนั้นฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงมิได้เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1)
พิพากษายืน

Share