คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6819/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามพยานหลักฐานจะไม่ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมแปลงแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ แต่การที่จำเลยขับรถยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไปและติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นแผ่นป้ายการเขียนปลอมไปตามทางสาธารณะ โดยมุ่งหมายให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของทางราชการ ก็เป็นการใช้หรืออ้างเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนรถเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 อีกกระทงหนึ่งซึ่งแยกออกจากกระทงความผิดฐานรับของโจร แม้ฎีกาของจำเลยในส่วนที่ว่าศาลฎีกาสมควรพิพากษาลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดทั้งสองฐานหรือไม่ จะเป็นฎีกาในดุลพินิจของศาลอันเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ก็ตามแต่เมื่อจำเลยฎีกาในข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยลงโทษจำเลยและลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 ให้เหมาะสมแก่ความผิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335, 357, 264, 265, 268, 83, 91 และริบแผ่นป้ายทะเบียนปลอมของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ รับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 เรียงกระทงลงโทษ ความผิดตามมาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ตามมาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 7 ปี ริบแผ่นป้ายทะเบียนปลอมของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมายจำเลยฎีกาข้อแรกว่า ความผิดที่จำเลยกระทำตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265เป็นความผิดหลายบทหรือหลายกระทง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 6 มีนาคม2533 มีคนร้ายได้ลักรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ช-2636 กรุงเทพมหานครของผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมไป วันที่23 พฤษภาคม 2533 จำเลยได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวติดแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนรถยนต์ 7ช-8462 กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ใช่แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของทางราชการมาจอดอยู่ที่ศูนย์การค้า โดยทราบว่าเป็นรถยนต์ของผู้เสียหายซึ่งถูกลักไป และแผ่นป้ายทะเบียนรถหมายเลขทะเบียน 7ช-8462 กรุงเทพมหานคร เป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถปลอมเห็นว่า แม้ขณะที่จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสียซื้อหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งรถยนต์ของผู้เสียหายโดยทราบว่าเป็นรถยนต์ซึ่งลักมาอันเป็นความผิดฐานรับของโจรนั้น รถยนต์จะมีแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของทางราชการหรือปลอมแปลงมาแล้วหรือไม่ก็ตามแต่โดยความมุ่งหมายของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียนและตามมาตรา 11 รถที่จดทะเบียนแล้วต้องมีและแสดงแผ่นป้าย และเครื่องหมายครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) แม้ตามพยานหลักฐานจะไม่ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมแปลงแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ 7ช-8462 กรุงเทพมหานคร แต่การที่จำเลยขับรถยนต์ของผู้เสียหายติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมโดยจำเลยทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวไปตามทางสาธารณะ โดยมุ่งหมายให้ประชาชนผู้พบเห็นเข้าใจว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของทางราชการก็เป็นการใช้หรืออ้างเอกสารแผ่นป้ายทะเบียนรถเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 อีกกระทงหนึ่งซึ่งแยกออกจากกระทงความผิดฐานรับของโจรรถยนต์
ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสองว่า ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 18 ปีเศษจำเลยเป็นนักศึกษาไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจรอการลงโทษหรือลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กฎหมายบัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลว่าผู้ใดอายุกว่าสิบเจ็ดปี แต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ ฉะนั้นแม้ฎีกาของจำเลยในส่วนที่ว่าศาลฎีกาสมควรพิพากษาลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดทั้งสองฐานหรือไม่จะเป็นฎีกาในดุลพินิจของศาลอันเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ก็ตามแต่เมื่อจำเลยฎีกาในข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยลงโทษจำเลยและลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 ให้เหมาะสมแก่ความผิดได้เห็นว่า ตามพยานหลักฐานในสำนวนเชื่อว่าจำเลยซึ่งอายุ 19 ปี กระทำผิดในขณะเป็นนักศึกษาและเป็นเพื่อนกับบุตรชายโจทก์ร่วม เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมประกอบแล้ว สมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก กับมาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 265 ลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 6 เดือนกับ 1 ปี ตามลำดับ รวมลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 6 เดือน
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 19 ปีตามพฤติการณ์แห่งคดี สมควรให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด ของแต่ละกระทงความผิดลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 คงจำคุกจำเลยมีกำหนดรวม 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share