คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19299/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเท่านั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน คดีนี้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในการพิจารณาการกระทำความผิดของจำเลย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องพิจารณาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 ที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปได้ แม้ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 264, 265, 268, 32, 33, 83, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 ความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมกับฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และเนื่องจากจำเลยกับพวกร่วมเข้าตรวจค้นโดยไม่มีอำนาจในสถานที่ 2 แห่ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมสองกระทงจำคุก 6 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยอย่างไร และไม่ได้ระบุเวลาในการกระทำความผิดแต่ละกรรมแยกออกจากกันนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1. ว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 เวลากลางวัน จำเลยกับนายเสน่ห์ จำเลยที่ 1 นายมนตรี จำเลยที่ 2 จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2404/2551 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมกัน หลังจากนั้นโจทก์บรรยายฟ้องในการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแต่ละกรรมเป็นข้อ ๆ โดยบรรยายฟ้องข้อ 1 ข. ว่า นายเสน่ห์ จำเลยที่ 1 นายมนตรี จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2404/2551 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และได้กระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านเสริมสวยศิริแฮร์คัท โดยร่วมกันนำหมายค้นอันเป็นเอกสารราชการปลอมที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นใช้อ้างแสดงต่อนางวิไล ช่างทำผมประจำร้านเสริมสวย เข้าตรวจค้นโดยอ้างว่าเพื่อค้นหายาเสพติด เพราะมีผู้แจ้งว่าร้านเสริมสวยจำหน่ายยาเสพติด โดยนายเสน่ห์และนายมนตรีพวกของจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่มีอำนาจกระทำการนั้น และจำเลยมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และจำเลยไม่มีอำนาจกระทำการนั้น และบรรยายฟ้องข้อ 1 ค. ว่า ภายหลังจากที่จำเลยกับพวกกระทำความผิดในข้อ ข. แล้ว นายเสน่ห์ จำเลยที่ 1 นายมนตรี จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2404/2551 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และได้กระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านกาแฟนมสด โดยร่วมกันนำหมายค้นอันเป็นเอกสารราชการปลอมที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นใช้อ้างแสดงต่อนายต่อย ผู้ดูแลร้านกาแฟนมสด เข้าตรวจค้นโดยอ้างว่าเพื่อค้นหายาเสพติด เพราะมีผู้แจ้งว่าร้านลักลอบจำหน่ายยาเสพติด โดยจำเลยกับพวกมิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจอันมีอำนาจกระทำการนั้น และจำเลยมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และจำเลยไม่มีอำนาจกระทำการนั้น แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงเวลาในการกระทำความผิดแต่ละกรรมแยกจากกันและไม่ได้บรรยายฟ้องถึงหน้าที่ของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องในข้อ 1 แล้วว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กับบรรยายฟ้องในข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค. ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และได้กระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นร้านเสริมสวยศิริแฮร์คัทและร้านกาแฟนมสด โดยร่วมกันนำหมายค้นอันเป็นเอกสารราชการปลอมที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้น ใช้อ้างแสดงต่อนางวิไลและนายต่อย เข้าตรวจค้นโดยอ้างว่าเพื่อค้นหายาเสพติดโดยจำเลยมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจ สังกัดสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และจำเลยไม่มีอำนาจกระทำการนั้น ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายในฟ้องถึงวันเวลากระทำความผิดในแต่ละกรรมและบรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงหน้าที่ของจำเลยและการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ส่วนฎีกาในส่วนอื่นของปัญหานี้ จำเลยหยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นมาเป็นข้อฎีกา เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้างว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 เป็นบทบัญญัติที่บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ อันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องโอนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ โดยไม่สามารถนำพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มาตรา 26 (1) มาใช้บังคับได้นั้น เห็นว่า มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตามมาตรา 88 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ” นั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเท่านั้น ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน คดีนี้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในการพิจารณาการกระทำความผิดของจำเลย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องพิจารณาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 ที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปได้ แม้ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าว เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share