คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9646/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดฐานรับของโจรก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ประกอบกับจำเลยที่ 2 นำสืบว่า ด. ให้จำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ จำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ต่อมาจำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ต่อมาจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปดื่มสุราที่บ้านจำเลยที่ 1 จนไม่สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้ จึงฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้หลงต่อสู้ ดังนี้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานชิงทรัพย์โดยไม่ได้บรรยายฟ้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรมาด้วยก็ตามศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาในความผิดฐานรับของโจรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 339, 340 ตรี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 1,800 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคสอง) จำคุกคนละ 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดฐานรับของโจรก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติบังคับไว้ว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ประกอบกับจำเลยที่ 2 นำสืบว่านายดำรงรักษ์ ให้จำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ จำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ต่อมาจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของกลางไปดื่มสุราที่บ้านจำเลยที่ 1 จนไม่สามารถขับรถจักรยานยนต์ได้ จึงฝากไว้ที่บ้านจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้หลงต่อสู้ ดังนี้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานชิงทรัพย์ โดยไม่ได้บรรยายฟ้องและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรมาด้วยก็ตาม ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาในความผิดฐานรับของโจรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share