คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความที่โจทก์ขอแก้ฟ้องโดยเพิ่มเติมว่า จำเลยเป็นพนักงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย บ. โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมไว้ในตอนต้นเกี่ยวกับฐานะของโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัย บ. อันเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย บ. จึงทำให้เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย บ. อันเป็นพนักงานหรือหน่วยงานของรัฐ และข้อความที่โจทก์ขอแก้ว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องเดิมแล้วว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่โจทก์ขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องดังกล่าวข้างต้นจึงมีผลตรงกันกับฟ้องเดิมในใจความสำคัญอันเป็นการแก้ไขรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องเพื่อทำให้ฟ้องชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด รวมทั้งการแก้ไขบทลงโทษก็เป็นการแก้ไขฐานความผิด หาทำให้จำเลยหลงต่อสู้ไม่ จึงไม่อาจถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเช่นกัน โจทก์ชอบที่จะขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ให้จำเลยลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีกำหนด 3 ครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลและให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 และยกฟ้องโจทก์ในข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง 2 ครั้ง โดยคำฟ้องเดิมโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อ้างบทบัญญัติว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 157 โดยบรรยายฐานะจำเลยว่า จำเลยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน และจะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2557 อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายซึ่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นมูลที่มาแห่งการฟ้องร้องคดีนี้ แต่ในคำฟ้องฉบับที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมระบุว่า มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ.2550 ซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ จำเลยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากมหาวิทยาลัย จึงถือเป็นพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ขอแก้ไขฟ้องเดิมในข้อ 2 หน้า 5 บรรทัดที่ 5 “อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502” และแก้ไขคำขอท้ายฟ้องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ในข้อนี้พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี ในฐานะทนายจำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ แต่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในคำร้องว่า การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์เป็นการแก้ไขฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้อง ไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ และอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องของโจทก์ได้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ฟุ่มเฟือย มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องของโจทก์ในข้อที่ 1 และข้อที่ 2 ให้ชัดเจนกระชับโดยทำคำฟ้องมาเสนอต่อศาลใหม่ทั้งฉบับภายใน 15 วัน วันที่ 8 ธันวาคม 2557 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ครั้งที่ 2 ต่อศาล อ้างว่าคำฟ้องไม่สมบูรณ์ ขอแก้ใหม่ทั้งฉบับ ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นวันเดียวกันกับคำฟ้องฉบับเดิม ศาลอนุญาตให้แก้ไขได้ อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยโจทก์ขอเพิ่มเติมฐานะของจำเลยเข้ามาใหม่จากเดิมฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แก้ไขเป็นฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบความผิดและฐานะของจำเลย ตลอดจนรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิด บทมาตราและฐานความผิด ทำให้การกระทำเป็นความผิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม จึงเป็นข้อสาระสำคัญแห่งคดี เป็นคำฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้ ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้อง เพราะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และเป็นข้อกฎหมายสำคัญมิอาจแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์และจำเลย จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งซึ่งอนุญาตให้แก้คำฟ้องและคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิจารณาและพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีตำแหน่งเป็นคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยดำรงตำแหน่งครั้งแรกเมื่อปี 2553 ถึงปี 2557 และดำรงตำแหน่งคณบดีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 และเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน และจะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อระหว่างวันที่ 12 ตุลาคม 2555 จนถึงวันที่ 2 มกราคม 2557 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้รับทราบเอกสารประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง ยกเลิกการล้มละลายของโจทก์และนางจงกล จำเลยในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่สอบถามข้อเท็จจริงและสืบหาความจริงเกี่ยวกับประกาศดังกล่าว แต่จำเลยหาทำเช่นนั้นไม่ อีกทั้งยังเสนอชื่อและแต่งตั้งโจทก์เป็นหัวหน้าส่วนงาน หากโจทก์เคยถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งเป็นผลสืบเนื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นหัวหน้าส่วนงานและคณบดี การที่จำเลยยังคงเสนอชื่อโจทก์และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งย่อมส่งผลให้การกระทำใด ๆ ของโจทก์ ในขณะที่ยังปฏิบัติหน้าที่ดังที่ได้รับแต่งตั้งเป็นโมฆะ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยและโจทก์ในฐานะพนักงานของมหาวิทยาลัยบูรพา ดังนั้น การที่จำเลยเพิกเฉยไม่สอบถามข้อเท็จจริงหรือสืบหาความจริงเกี่ยวกับการล้มละลาย ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริตอันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอเพิ่มเติมข้อความในข้อ 1 หน้า 2 ย่อหน้าที่ 2 ว่า มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ.2550 ซึ่งทุนทั้งหมดหรือเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ จำเลยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากมหาวิทยาลัยบูรพา จึงถือว่าเป็นพนักงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และขอแก้ไขข้อความในข้อ 2 หน้า 5 บรรทัดที่ 5 เป็น จำเลยเพิกเฉยไม่สอบถามข้อเท็จจริงหรือสืบหาความจริงเกี่ยวกับการล้มละลายของโจทก์ ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็น พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ดังนี้ ข้อความที่โจทก์ขอเพิ่มเติมว่า จำเลยเป็นพนักงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมไว้ในตอนต้นเกี่ยวกับฐานะของโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อันเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา จึงทำให้เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยบูรพาอันเป็นพนักงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐ และข้อความที่โจทก์ขอแก้ว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องเดิมแล้วว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนี้ การที่โจทก์ขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องดังกล่าวข้างต้น จึงมีผลตรงกันกับฟ้องเดิมในใจความสำคัญอันเป็นการแก้ไขรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องเพื่อทำให้ฟ้องชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด รวมทั้งการแก้ไขบทลงโทษก็เป็นการแก้ไขฐานความผิดหาทำให้จำเลยหลงต่อสู้ไม่ จึงไม่อาจถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเช่นกัน โจทก์ชอบที่จะขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายและมิใช่คำสั่งที่ผิดระเบียบหรือผิดหลง แล้วพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share