คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9883/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดในวันที่ 11 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 11 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 12 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก 2,000,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 42624, 42625, 42626 และ 42627 ตำบลปรุใหญ่ (ตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่รวม 100 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2538 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี – หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2538 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 ทำให้ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนทั้งหมดคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 ให้แก่โจทก์ตารางวาละ 10,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 42626 และ 42627 กำหนดเงินทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 40,000 บาท โจทก์ไม่พอใจและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่รัฐมนตรี ฯ ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ มีมติให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 ให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 30,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 42626 และ 42627 ให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 80,000 บาท รัฐมนตรี ฯ เห็นชอบด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 ให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 80,000 บาท หรือไม่ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ที่ให้กำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ ซึ่งคดีนี้ได้แก่วันที่ 21 ธันวาคม 2538 นอกจากนั้นยังต้องคำนึงราคาของอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น รวมทั้งเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 เท่ากับอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42626 และ 42627 คือตารางวาละ 80,000 บาท เพราะบริเวณที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ในทำเลการค้าที่เจริญมากและอยู่ในย่านชุมชน มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตารางวาละ 80,000 ถึงตารางวาละ 200,000 บาท เช่น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินเพื่อตั้งสำนักงานสาขา เนื้อที่ 190 ตารางวา ในราคาประมาณ 16,000,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.19 บริษัทเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินเพื่อตั้งสำนักงานสาขา อยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 500 เมตร เนื้อที่ 25 ตารางวา ในราคา 5,000,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.21 นอกจากนี้ที่ดินของนางจุฑารัตน์ โฉนดเลขที่ 42623 ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 106 ตารางวา อยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 ของโจทก์ แต่นางจุฑารัตน์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 80,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.19 ปรากฏว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินไว้เป็นที่ตั้งสำนักงานสาขา เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร จึงต้องคำนึงถึงทำเลที่ตั้งของที่ดินเป็นสำคัญเพื่อให้เหมาะสมกับธุรกิจการค้าของตน เชื่อว่าทำเลที่ตั้งย่อมดีกว่าที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้ผู้ขายสามารถเรียกราคาที่ดินสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดได้ ส่วนหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.21 ปรากฏว่า บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซื้อที่ดินเพื่อตั้งสำนักงานสาขาประกอบกิจการการค้าในเชิงทรัพย์ อยู่ริมถนนมิตรภาพ มีสภาพทำเลที่ตั้งดีกว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ ซึ่งอยู่ด้านในไม่ติดถนนมิตรภาพ จึงไม่อาจนำเอาราคาซื้อขายที่ดินของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทเทเวศประกันภัย (มหาชน) มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เลยทีเดียว ส่วนที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้นางจุฑารัตน์ ตารางวาละ 80,000 บาท ดังที่โจทก์ฎีกานั้นก็ได้ความว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ที่ติดถนนมิตรภาพจึงกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้ในอัตราเดียวกัน อย่างไรก็ตามที่ดินของโจทก์ทั้งสี่แปลงอยู่ติดกัน การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 ให้แก่โจทก์ตารางวาละ 30,000 บาท น้อยกว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42626 และ 42627 ซึ่งอยู่ด้านหน้าถึงตารางวาละ 50,000 บาท นั้นเป็นการกำหนดราคาที่แตกต่างกันมากเกินไป แต่ที่โจทก์ฎีกาขอเพิ่มเติมเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 เป็นตารางวาละ 80,000 บาท เท่ากับที่ดินโฉนดเลขที่ 42626 และ 42627 นั้นก็เป็นราคาที่สูงเกินสมควร เพราะสภาพทำเลที่ตั้งของที่ดินโฉนดเลขที่ 42626 และ 42627 อยู่ติดถนนมิตรภาพ ย่อมดีกว่าสภาพทำเลที่ตั้งของที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42626 ซึ่งอยู่ด้านหลังที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 42624 และ 42625 ที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคม คืออัตราตารางวาละ 45,000 [ท เพิ่มเติมจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ กำหนดให้อีกตารางวาละ 15,000 บาท รวมเนื้อที่ 60 ตารางวา เป็นเงิน 900,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก 900,000 บาท ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองนำสืบว่าฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินภายในวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ตามเอกสารหมาย ล.18 ถึง ล.21 แต่โจทก์ไม่รับเงินดังกล่าว ฝ่ายจำเลยจึงนำเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสี่แปลงของโจทก์ไปฝากธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 แล้วมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.22 ถึง ล.25 เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดในวันที่ 11 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าวฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 11 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 12 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มอีก 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share