คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญารับเหมาช่วงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมลงนามผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญากับโจทก์โดยตกลงที่จะเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 อันจะมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ แม้จะได้ความว่าก่อนจะทำสัญญา จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าสำหรับใช้ในโครงการที่จำเลยที่ 1 รับเหมากับโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ได้รับเงินในงวดงานที่ 17, 18 ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งว่าไม่ขัดข้อง ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ก็เป็นเพียงข้อตกลงในการจัดการชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ต่อโจทก์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อยเท่านั้น หาใช่เป็นข้อสัญญาที่จำเลยที่ 2 ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เพราะตราบใดมีค่างวดงานที่จำเลยที่ 2 ได้รับจากมหาวิทยาลัย ม. ยังนำไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ครบถ้วน ข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 จะชำระค่าจ้างเหมาให้แก่โจทก์ก็ยังไม่เกิดผลบังคับและแม้การเบิกเงินในงวดงานที่ 17, 18 จะเกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของงานที่โจทก์รับเหมาช่วงจากจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในอันที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงตามมาตรา 374 ได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารศูนย์สัตวศาสตร์และเทคโนโลยี กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 2 ให้มีสิทธิรับและจ่ายเงินตามสัญญาจ้างแทนจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้รับเหมาช่วงในส่วนงานจัดหาและติดตั้งเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์การระบายเป็นเงิน 1,600,000 บาท จำเลยที่ 2 ตกลงจะจ่ายเงินค่าจ้างที่ได้รับมาให้แก่โจทก์แทน โจทก์ส่งมอบงานที่รับจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 และมหาวิทยาลัยแม่โจ้จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,790,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้ตกลงจะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 โอนสิทธิการรับเงินจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงว่าเมื่อหักชำระหนี้แล้วหากมีเงินเหลือจึงจะจ่ายให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 นำเงินที่รับมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้วไม่มีเงินเหลือ จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมลงนามในข้อตกลงสำหรับงานรับเหมาช่วงที่ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินโดยตรงให้แก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความชั่วคราวเนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ก่อสร้างอาคารศูนย์สัตวศาสตร์และเทคโนโลยีจำนวน 1 หลัง วงเงินทั้งสิ้น 161,450,000 บาท กำหนดแบ่งค่าจ้างและการจ่ายเงินตามงวดของงานรวม 20 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันสัญญาดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเงินจำนวน 11,301,500 บาท จำเลยที่ 1 ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในงานงวดที่ 10 ถึงงวดที่ 20 เป็นเงินจำนวน 96,870,000 บาท ที่จะได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตามสัญญาจ้างก่อสร้างให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ยอมรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทราบด้วยแล้วและทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาอโศก แจ้งว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาซื้อสินค้าสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับโจทก์ และยอมให้โจทก์ขอรับเงินโดยตรงจากจำเลยที่ 2 ตามงวดงานในสัญญาต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากโครงการดังกล่าวในงวดงานที่ 17 จำนวน 832,000 บาท และงวดงานที่ 18 จำนวน 832,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,664,000 บาท แล้ว โดยการเบิกงวดงานของโจทก์แต่ละครั้งจำเลยที่ 1 จะส่งหนังสือรับรองงวดงานที่ทำสำเร็จให้จำเลยที่ 2 เพื่อยืนยันว่าโจทก์ทำงานสำเร็จจริงและขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาอนุมัติและแจ้งยืนยันการชำระเงินตามวิธีดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 โดยผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาอโศก ทำหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่า ไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ข้างต้น ทั้งนี้เงินที่จำเลยที่ 2 รับมานั้นจะต้องนำมาหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับจำเลยที่ 2 ให้เรียบร้อยก่อน หากยังมีเงินคงเหลือจึงจะดำเนินการดังกล่าวให้และจะต้องอยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จากนั้นจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้รับเหมาช่วงสำหรับงานติดตั้งเครื่องปรับอากาศและงานระบายเป็นเงิน 1,600,000 บาท โดยกำหนดการจ่ายเงินว่าจะจ่ายโดยตรงทางธนาคารจำเลยที่ 2 โจทก์ดำเนินการตามสัญญารับเหมาช่วงแล้วเสร็จ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างงวดงานที่ 16 ถึงงวดงานที่ 20 ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไปครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาช่วงให้แก่โจทก์
มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างตามสัญญารับเหมาช่วงสำหรับเครื่องปรับอากาศและงานระบาย ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยที่ 2 ร่วมลงนามผูกพันเป็นคู่สัญญากับโจทก์ด้วย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่เคยทำสัญญากับโจทก์โดยตกลงที่จะเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 อันจะมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้แต่อย่างใด แม้จะได้ความว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะทำสัญญากับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาซื้อสินค้าสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินให้แก่จำเลยที่ 2 กับโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ได้รับเงินในงวดงานที่ 17 และงวดงานที่ 18 และจำเลยที่ 1 ส่งหนังสือรับรองงวดงานที่โจทก์ทำสำเร็จให้จำเลยที่ 2 แล้วก็ขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาอนุมัติชำระเงินแก่โจทก์ และต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ว่าไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการตามความประสงค์ดังกล่าว แต่เงินที่จำเลยที่ 2 รับโอนสิทธิมานั้นจะต้องนำมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับจำเลยที่ 2 เสียก่อน หากมีเงินคงเหลือจึงจะชำระให้โจทก์ทั้งให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยที่ 2 ด้วยก็ตาม ข้อตกลงของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ก็ถือได้เป็นเพียงข้อตกลงในการจัดการชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ต่อโจทก์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อยเท่านั้น หาใช่เป็นข้อสัญญาที่จำเลยที่ 2 ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 แต่ประการใดไม่ เพราะตราบใดที่เงินค่างวดงานที่จำเลยที่ 2 ได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังนำไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ครบถ้วน ข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินค่าจ้างเหมาให้แก่โจทก์ก็ยังไม่เกิดผลบังคับ โจทก์จึงจะอาศัยข้อตกลงของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มาฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 ไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาทำนองว่า การโอนสิทธิเรียกร้องนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ทั้งกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ผู้เป็นคู่สัญญาโดยตรงและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง หากการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่มีผลเป็นการผูกนิติสัมพันธ์โจทก์แล้ว การรับโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ก็คงไม่มีผลผูกพันกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ให้ต้องปฏิบัติตามด้วยเพราะมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 2 โดยตรง ทั้งการที่จำเลยที่ 2 จะเบิกเงินในงวดงานใดได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการดำเนินการให้งวดงานนั้น ๆ เสร็จก่อน เมื่อโจทก์เข้าทำสัญญารับเหมาช่วงในงวดงานที่ 17 และงวดงานที่ 18 และได้ทำงานเสร็จจนจำเลยที่ 2 สามารถเบิกเงินตามงวดงานดังกล่าวได้แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการดำเนินการดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้วยนั้น เห็นว่า ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีข้อความสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวน 96,870,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตามสัญญาจ้างก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ตกลงยอมรับโอนสิทธิเรียกร้องเท่านั้น ไม่มีข้อความใดที่ระบุให้โอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวหรือบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 4 ยังมีข้อความระบุว่า คู่สัญญาไม่ถือการโอนสิทธิเรียกร้องนี้เป็นการชำระหนี้ด้วยอย่างอื่น อันจะทำให้หนี้ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับจำเลยที่ 2 ระงับลงจนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ครบถ้วนเต็มจำนวน ดังนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จึงหาใช่โอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องดังที่โจทก์อ้างแต่อย่างใดไม่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยทำสัญญากับโจทก์โดยตกลงจะเป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 แม้การเบิกเงินในงวดงานที่ 17 และงวดงานที่ 18 จะเกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของงานที่โจทก์รับเหมาช่วงจากจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในอันที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โดยตรงได้ไม่ กรณีต่างกันกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และได้รับการบอกกล่าวและให้ความยินยอมในการโอนนั้นด้วยแล้วที่จะต้องถูกผูกพันให้ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นด้วย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share