คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเดิมเป็นของ จ. และท.เมื่อท.ถึงแก่กรรมโจทก์จดทะเบียนรับโอนเฉพาะส่วนของ ท. มาเป็นของโจทก์ ต่อมา จ. ถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจ.แล้วจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 และ 3 การจดทะเบียนโอน กรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของ จ. อันเป็นทรัพย์มรดกของ จ.มาเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมกระทำได้ตามกฎหมายไม่ว่า จำเลยที่ 1 จะเป็นทายาทโดยธรรมของ จ.หรือไม่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนการจดทะเบียนโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่ทายาทโดยธรรมของ จ. จะฟ้องร้องกันเองโจทก์มิได้เป็นทายาทโดยธรรมของ จ.จะมาฟ้องโดยอาศัยสิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทย่อมไม่ได้ โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ ไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ดังนี้ เสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิใช่เสียค่า ขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์พิพาท

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า ที่พิพาทคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3858และ 3866 อยู่ที่ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมืองนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมา เดิมเป็นของนายจากและนางทอง เสริมหมื่นไวยนางทองถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2523 ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนรับโอนเฉพาะส่วนของนางทองมาเป็นของโจทก์แล้วต่อมา พ.ศ. 2523นายจากถึงแก่กรรม ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกและจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนรับโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของนายจากแล้วจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีและบุตร ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามคดีนี้เป็นจำเลยทั้งสามในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 725/2524 ของศาลจังหวัดนครราชสีมา กล่าวอ้างว่าโจทก์แต่ผู้เดียวเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายจากจำเลยที่ 1 มิได้เป็นทายาทของนายจาก ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นของตนแล้วโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเฉพาะส่วนของนายจาก และให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่ดินดังกล่าวคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายจาก พิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีดังกล่าว
คดีนี้คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่พิพาทและได้ครอบครองที่พิพาททั้งหมดแต่ผู้เดียว จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่พิพาทและให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่พิพาทแก่โจทก์พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 บัญญัติว่า”เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ฯลฯ” บทบัญญัตินี้หมายความว่าเมื่อมีบุคคลภายนอกมายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจฟ้องร้องว่ากล่าวหรือต่อสู้คดีโดยลำพังผู้เดียวได้แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายจากตามคำสั่งศาล จึงย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของนายจากตามกฎหมาย การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของนายจากอันเป็นทรัพย์มรดกของนายจากมาเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมกระทำได้ตามกฎหมายทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นทายาทโดยธรรมของนายจากหรือไม่ ทั้งกรณีไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนที่เป็นมรดกของนายจากดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ทายาทโดยธรรมของนายจากจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันเองเมื่อโจทก์มิได้เป็นทายาทโดยธรรมของนายจากจะมาฟ้องร้องโดยอาศัยสิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทย่อมไม่ได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งคดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ควรเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ก.ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วแต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์พิพาท(ตามคำสั่งศาลชั้นต้น)จึงเกินอัตราตามกฎหมาย”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนจำเลยทั้งสามเป็นเงิน 1,000 บาท คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 200 บาทให้โจทก์

Share