คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2372/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สำเนาภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องไม่มีต้นฉบับ ไม่ใช่ต้นฉบับสูญหายดังที่โจทก์อ้าง และสำเนาสัญญาค้ำประกันที่อ้างส่งศาลก็มิใช่ต้นฉบับที่เป็นคู่ฉบับลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในช่องผู้ค้ำประกันของเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องและสัญญาค้ำประกันที่ส่งศาลโจทก์จะอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานในคดีนี้หาได้ไม่ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้
โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ต่อสู้คดีปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ในสำเนาภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ปลอม จำเลยที่ 2 จึงต้องนำสืบความเห็นผู้เชี่ยวชาญ เมื่อจำเลยที่ 2 เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ไปเท่าใด ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ เพราะเป็นค่าธรรมเนียมของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์เอกสารตาม ป.วิ.พ.มาตรา 129 (2) แม้ค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะมิได้กำหนดไว้ในตาราง 1 ถึง 6 ท้าย ป.วิ.พ.ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นค่าธรรมเนียมอื่นที่กฎหมายบังคับให้ต้องเสียตาม ป.วิ.พ.มาตรา 161 วรรคสอง
ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลชั้นต้นส่งเอกสารอื่นกับสำเนาภาพถ่ายสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องที่โจทก์นำมาฟ้อง และสัญญาค้ำประกันไปให้ผู้เชี่ยวชาญ กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของคนคนเดียวกันหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ส่งเอกสารไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ดังจำเลยที่ 2แถลงไว้ ดังนี้ถือว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 99 แล้วและการกำหนดความรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับคู่ความนั้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุผลสมควรและความสุจริตในการต่อสู้คดี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 161 วรรคแรก ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจักมีคำขอหรือไม่ ก็ให้ศาลสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ.ความแพ่ง มาตรา 167 วรรคแรก คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะคดีไม่เต็มจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้อง แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้ไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมก็ตามแต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะสั่งแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ถ้าหากเห็นเป็นการสมควร ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์รับผิดในค่าธรรมเนียมของผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์เอกสารนั้นชอบแล้ว

Share