แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงมาแล้วว่า ทางหลวงชนบทตรงที่จับจำเลยได้พร้อมกับไม้ของกลางอยู่ในบริเวณป่าอันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และไม้ของกลางเป็นไม้ที่ถูกตัดจากในป่าสงวนแห่งชาติ การที่จำเลยฎีกาว่าทางหลวงชนบทที่จำเลยถูกจับนั้นมิใช่ป่าสงวนแห่งชาติ และการนำไม้หวงห้ามออกจากป่าหมายถึงการนำไม้ที่มีอยู่หรือขึ้นอยู่ในป่า มิได้หมายความถึงการซื้อไม้ที่มีคนนำมาขายให้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ดังนี้ เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ไม้ของกลางตัดมาจากป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพของป่านั้นแล้ว การที่จำเลยนำไม้ของกลางออกจากป่าสงวนแห่งชาติซึ่งอยู่ในความหมายของการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีไม้สักแปรรูป ปริมาตรเนื้อไม้0.40 ลูกบาศก์เมตรอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยได้บังอาจร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ชักลากและนำไม้สักแปรรูปที่มีอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติที่จำเลยมีไว้เป็นความผิดออกจากป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 4, 6, 14, 15, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503มาตรา 17, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และสั่งริบไม้สักและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 และพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17 แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 เพียงฐานเดียว ให้จำคุก 9 เดือน ปรับคนละ 3,000 บาทลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุกคนละ 6 เดือนปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ไม้และรถจักรยานยนต์ของกลางริบ ข้อหาฐานร่วมกันมีไม้สักแปรรูปเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวฟ้องพนักงานป่าไม้และตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งสามขณะที่รถจักรยานยนต์คนละคัน บรรทุกไม้สักแปรรูปคันละ 2 ท่อนมาตามทางรถยนต์เส้นทางหลวงชนบท จากบ้านแม่จ๋องไปทางบ้านแม่ป๊อก ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าแม่ตืนและป่าแม่แนต โดยจำเลยซื้อไม้ของกลางมาจากชายคนหนึ่งที่ตัดไม้นั้นในป่าบ้านแม่จ๋องซึ่งอยู่ในบริเวณป่าแม่ตืนแม่แนตอันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยฎีกาว่า ทางหลวงชนบทที่จำเลยถูกจับกุมนั้นมิใช่ป่าสงวนแห่งชาติและการนำไม้หวงห้ามออกจากป่าหมายถึงการนำไม้ที่มีอยู่หรือขึ้นอยู่ในป่า มิได้หมายความถึงการซื้อไม้ที่มีคนนำมาขายให้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงมาแล้วว่า ทางหลวงชนบทตรงที่จับจำเลยทั้งสามได้พร้อมกับไม้ของกลางอยู่ในบริเวณป่าแม่ตืนและป่าแม่แนตอันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และไม้ของกลางเป็นไม้ที่ถูกตัดจากในป่าสงวนแห่งชาติ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การนำไม้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติอันจะเป็นผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ต้องปรากฏด้วยว่าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่สภาพของป่าสงวนด้วยนั้นศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าไม้ของกลางตัดมาจากป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพของป่านั้นแล้วการที่จำเลยทั้งสามนำไม้ของกลางออกจากป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความหมายของการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นความผิดตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แล้ว
พิพากษายืน