แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ไปแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการลดส่วนอัตราเงินสมทบเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บปวด กรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีตาย พ.ศ. 2534 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอลดส่วนและการพิจารณาหักส่วนลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างจะต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมโดยให้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคมดังกล่าวได้ระบุเกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือปัจจัยที่ใช้พิจารณาให้คะแนนในเรื่องสวัสดิการกรณีเจ็บป่วย แบ่งเป็น 9 หัวข้อ โจทก์ได้คะแนนรวมเท่ากับ 0 ใน 8 หัวข้อ อีก 1 หัวข้อ คือ ระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลปรากฏว่า ประกาศสำนักงานประกันสังคมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้งในกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาล ส่วนระเบียบของโจทก์ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้งแต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาลถือได้ว่าสวัสดิการเกี่ยวกับระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้คะแนน0 คิดเป็นคะแนนรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 0 จึงต้องถือว่าสวัสดิการที่โจทก์จัดให้พนักงานอยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โจทก์จึงไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจำเลยที่ 2 ในฐานะเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมมีหน้าที่ควบคุมดูแลทั่วไปเดิมโจทก์ได้รับสิทธิลดส่วนอัตราเงินสมทบตามประกาศของคณะกรรมการประกันสังคมในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยในอัตราร้อยละ 0.88 ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์กรอกรายละเอียดแบบขอลดส่วนอัตราเงินสมทบ (ต่อ) หรือขอยกเลิก และโจทก์ได้ส่งหนังสือขอลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2542 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่าโจทก์ไม่ได้รับสิทธิลดส่วนอัตราเงินสมทบ โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ในเรื่องจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน -1 เนื่องจากสวัสดิการของโจทก์พนักงานสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลของทางราชการได้ทุกแห่งโดยไม่จำกัดจำนวนค่ารักษาพยาบาล เว้นแต่ค่าห้องและค่าอาหารเบิกได้เท่ากับที่ทางราชการกำหนด แต่ในกรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับค่ารักษาพยาบาลครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกินสมพันบาท ส่วนประโยชน์ทดแทนของจำเลยที่ 1 ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่จำกัดจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล ในเรื่องระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน 0 เนื่องจากสวัสดิการของโจทก์ พนักงานสามารถเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลเอกชนได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงิน แต่ถ้าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ปีละ 2 ครั้ง และกรณีอุบัติเหตุไม่จำกัดจำนวนครั้งแต่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ในเรื่องขอบข่ายการให้ความคุ้มครองได้คะแนน +1 เนื่องจากระเบียบของโจทก์ไม่ได้ระบุกลุ่มโรคของผู้ประกันตนที่ไม่มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ ในเรื่องการครอบคลุมโรคเรื้อรังได้คะแนน 0 เนื่องจากระเบียบของโจทก์ไม่ได้ระบุกลุ่มโรคเรื้อรังที่ยกเว้นไว้เช่นเดียวกับของจำเลยที่ 1 ในเรื่องการยกเว้นโรคที่เป็นอยู่ก่อนได้คะแนน -1 เนื่องจากระเบียบการสมัครเข้าเป็นพนักงานของโจทก์มีการยกเว้นโรคที่ไม่รับสมัครเข้าทำงานแต่ของจำเลยที่ 1 ไม่มีการยกเว้น ในเรื่องวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน -1 เนื่องจากพนักงานจะต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนจึงจะสามารถเบิกคืนได้ ในเรื่องระยะเวลารอการมีสิทธิได้คะแนน +1 เนื่องจากระเบียบของโจทก์ให้ความคุ้มครองทันทีเมื่อได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงาน ในเรื่องผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน +1 เนื่องจากโจทก์เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานทั้งหมด ในเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้ได้คะแนน -1 เนื่องจากระเบียบของโจทก์จ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งน้อยกว่าเงินทดแทนการขาดรายได้ของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ การให้คะแนนแล้วได้คะแนนรวมเท่ากับ 0 คือ มีมาตรฐานเท่ากับสำนักงานประกันสังคม จึงถือว่าสวัสดิการที่โจทก์จัดให้แก่พนักงานไม่สูงกว่าประโยชน์ทดแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่ได้รับลดส่วนอัตราเงินสมทบ คณะกรรมการอุทธรณ์จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าการให้คะแนนของคณะกรรมการอุทธรณ์ไม่เป็นธรรม เนื่องจากโจทก์จัดสวัสดิการให้แก่พนักงานในระดับที่สูงกว่าประโยชน์ทดแทนของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ให้สิทธิในการรักษาพยาบาลแก่พนักงานรวมทั้งครอบครัวและหากพนักงานใช้สิทธิทางประกันสังคมแล้วจะทำให้พนักงานรวมทั้งครอบครัวเสียสิทธิในการเบิกจ่ายจากโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส 0704/1135 ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1/2543 ฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2543
จำเลยทั้งสองให้การว่า เดิมโจทก์ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย แต่ต่อมาในปี 2542 โจทก์ไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบอีกต่อไป และจำเลยที่ 1 ได้ขยายประโยชน์ทดแทนในเรื่องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตรและตาย อีกทั้งตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 55 บัญญัติให้การขอลดส่วนอัตราเงินสมทบและการพิจารณาหักส่วนลดอัตราเงินสมทบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2534 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอลดส่วนและการพิจารณาหักส่วนลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างจะต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมโดยให้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยให้คะแนน 3 ระดับดังนี้ คะแนน 0 หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทน คะแนน -1 หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าประโยชน์ทดแทนและคะแนน +1 หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับสูงกว่าประโยชน์ทดแทนผลลัพธ์การให้คะแนนถ้าได้คะแนน 0 และ -1 หมายถึงนายจ้างไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ ถ้าได้คะแนน +1 หมายถึงนายจ้างได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ จากการพิจารณาสวัสดิการของโจทก์เปรียบเทียบกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แล้ว ในเรื่องจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน -1 เรื่องระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน 0 เรื่องขอบข่ายการให้ความคุ้มครองได้คะแนน +1 เรื่องการครอบคลุมถึงโรคเรื้อรังได้คะแนน 0 เรื่องการยกเว้นโรคที่เป็นอยู่ก่อนได้คะแนน -1 เรื่องวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน 0 เรื่องระยะเวลารอการมีสิทธิได้คะแนน +1 เรื่องผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้คะแนน +1 และเรื่องเงินทดแทนการขาดรายได้ได้คะแนน -1 เมื่อรวมคะแนนทั้งหมดโจทก์ได้คะแนนเท่ากับ 0 คือ มีมาตรฐานเท่ากับจำเลยที่ 1 จึงถือว่าสวัสดิการที่โจทก์จัดให้แก่พนักงานไม่สูงกว่าประโยชน์ทดแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่ได้รับลดส่วนอัตราเงินสมทบในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คำสั่งของจำเลยที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย อนึ่งจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคณะกรรมการอุทธรณ์และมิได้กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ รส 0704/1135 ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1/2543ฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2543 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ไปแล้ว อุทธรณ์เฉพาะของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อ 2.1 ว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ รส 0704/1135 ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1/2543 ฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2543 ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ปรากฏว่า ตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดส่วนอัตราเงินสมทบเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยกรณีทุพพลภาพ กรณีคลอดบุตร และกรณีตาย พ.ศ. 2534 ตามเอกสารหมาย ล.6 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอลดส่วนและการพิจารณาหักส่วนลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างจะต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมโดยให้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยให้คะแนน 3 ระดับ คือ คะแนน 0 หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทน คะแนน -1 หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับต่ำกว่าประโยชน์ทดแทน และคะแนน +1 หมายถึงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้อยู่ในระดับสูงกว่าประโยชน์ทดแทนผลลัพธ์การให้คะแนนถ้าได้คะแนน 0 และ -1 หมายถึงนายจ้างไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ ถ้าได้คะแนน +1 หมายถึงนายจ้างได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ และตามประกาศคณะกรรมการประกันสังคมดังกล่าวได้ระบุเกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือปัจจัยที่ใช้พิจารณาให้คะแนนในเรื่องสวัสดิการกรณีเจ็บป่วย แบ่งเป็น 9 หัวข้อ คือ จำนวนเงินค่ารักษาพยาบาลระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลขอบข่ายการให้ความคุ้มครอง การครอบคลุมถึงโรคเรื้อรังการยกเว้นโรคที่เป็นอยู่ก่อน วิธีการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ระยะเวลารอการมีสิทธิ ผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และเงินทดแทนการขาดรายได้ศาลแรงงานกลางพิจารณาตามหลักเกณฑ์การให้คะแนนในการลดส่วนอัตราเงินสมทบตามประกาศของจำเลยที่ 1 ทุกหัวข้อแล้ว ปรากฏว่าใน 8 หัวข้อ โจทก์ได้คะแนนรวมเท่ากับ 0 คงมีปัญหาอีกเพียง 1 หัวข้อ คือ ระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์สมควรได้คะแนนในหัวข้อนี้เพียงใด เห็นว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามระเบียบของโจทก์พนักงานสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ส่วนตามประกาศของจำเลยที่ 1 แม้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่จำกัดจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล แต่ในกรณีฉุกเฉินและผู้ประกันตนไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดได้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพียงระยะเวลา 72 ชั่วโมงปีละไม่เกิน 2 ครั้ง และในกรณีอุบัติเหตุแม้จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ก็เบิกได้เพียงระยะเวลา 72 ชั่วโมง ตามประกาศสำนักงานประกันสังคมเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 4.1 และ 4.2 ซึ่งการมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้งและระยะเวลาการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนดังกล่าว แสดงว่าสวัสดิการเกี่ยวกับระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์กำหนดอยู่ในระดับสูงกว่าประโยชน์ทดแทนตามประกาศของจำเลยที่ 1 นั้น ปรากฏว่าตามประกาศฉบับเดียวกัน ข้อ 6 ได้กำหนดผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลอื่นต่อผู้ประกันตนไว้ว่าให้สถานพยาบาลที่กำหนดไว้ในบัตรรับรองสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลอื่นที่ทำการรักษาผู้ประกันตนไว้ ซึ่งเป็นการรองรับค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตนจากข้อ 4.1 และ 4.2 โดยไม่มีการจำกัดจำนวนครั้งและระยะเวลาการรักษาพยาบาลในกรณีอุบัติเหตุ แม้จะมีการจำกัดจำนวนครั้งคือปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ในกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลอื่นเนื่องจากเหตุฉุกเฉินตามข้อ 4.1 ซึ่งไม่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 6 ของประกาศดังกล่าวให้สถานพยาบาลที่กำหนดในบัตรรับรองสิทธิเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของการรักษาพยาบาลที่เกินกว่าปีละ 2 ครั้ง ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามระเบียบของโจทก์เอกสารหมาย จ.2 ชุดที่ 3 ข้อ 10 ก็ระบุว่าให้เบิกค่ารักษาพยาบาลตามที่กำหนดไว้ได้สำหรับระยะเวลาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลเกิน 30 วัน ให้เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกินวันละ 100 บาท ในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลหลายครั้งแต่ละครั้งในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 15 วัน ให้นับระยะเวลาเข้ารับการรักษาพยาบาลครั้งหลังติดต่อกับการเข้ารับการรักษาพยาบาลในครั้งก่อน ซึ่งตามประกาศสำนักงานประกันสังคมมิได้มีข้อจำกัดดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าประกาศสำนักงานประกันสังคมมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้งในกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาล ส่วนระเบียบของโจทก์ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนครั้ง แต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลาการรักษาพยาบาล เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วถือได้ว่าสวัสดิการเกี่ยวกับระยะเวลาที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จัดให้อยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 สมควรได้คะแนน 0 เมื่อรวมคะแนนกับอีก 8 หัวข้อซึ่งมีคะแนนรวมเท่ากับ 0 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว คิดเป็นคะแนนรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 0 จึงต้องถือว่าสวัสดิการที่โจทก์จัดให้พนักงานอยู่ในระดับเดียวกับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โจทก์จึงไม่ได้รับการลดส่วนอัตราเงินสมทบ คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ รส 0704/1135 ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2542 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่ 1/2543 ฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2543 ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเสียทั้งหมด