คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยลดโทษให้กึ่งหนึ่งฐานรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้รอการลงโทษดังกล่าวไว้มีกำหนด 3 ปี กรณีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องโจทก์และคำรับสารภาพจำเลยว่าจำเลยมีอาวุธปืนเล็กยาวแบบ 83 ขนาด 7.62 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก กับลูกกระสุนจำนวน 32 นัด และลูกระเบิดมือซึ่งมีแรงประหาร 1 ลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธใช้เฉพาะแต่ในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 กฎกระทรวงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2501 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 (3) ช. (12), (16) ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี จำเลยรับสารภาพโดยดีมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย1 ปี

จำเลยอุทธรณ์ขอความปรานีเกี่ยวกับการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีพฤติการณ์ควรปรานี พิพากษาแก้ โดยให้รอการลงโทษของศาลชั้นต้นไว้มีกำหนด 3 ปี

โจทก์ฎีกาว่ายังไม่มีเหตุผลที่ควรให้รอ

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 การใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีจึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ให้ยกฎีกาโจทก์

Share