แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยให้การว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาตัวการตัวแทนขายประกัน ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จำเลยแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน สาระสำคัญของนิติสัมพันธ์จึงต้องพิจารณาทั้งจากข้อความที่แถลงด้วยวาจาและข้อสัญญาที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรประกอบกัน หากขัดแย้งกันต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงเป็นสำคัญ ตามรายงานกระบวนพิจารณาจำเลยว่าจ้างโจทก์โดยอาศัยสาระสำคัญของข้อตกลงตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 4 พิจารณาข้อสัญญาตามสัญญาตั้งตัวแทนประกอบข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานจึงไม่ขัดแย้งกับรายงานกระบวนพิจารณาที่บันทึกไว้
เป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงมาใช้พิจารณาพิพากษาคดีให้เกิดความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรก็เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยอาจนำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลม การนำ ป.วิ.พ. มาตรา 84 มาใช้โดยอนุโลมย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังพยานใดตามที่เห็นสมควรได้ ที่ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงและพยานอื่นประกอบการวินิจฉัยประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่จึงไม่เป็นการสืบพยานนอกประเด็นและไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 6,838,216 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 4 พิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 ตามสำเนาสัญญาแต่งตั้งตัวแทน แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาแต่งตั้งตัวแทนแล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษทางวินัยโจทก์นอกจากการเลิกสัญญา โจทก์ทำงานกับจำเลยครั้งแรกเป็นตัวแทนขายประกัน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามผลงานการขาย พนักงานขายประกันของจำเลยไม่ได้รับเงินเดือน สำหรับโจทก์แม้จำเลยจ่ายเงินเดือนคงที่ให้เดือนละ 6,300 บาท แต่โจทก์มีรายได้จากจำเลยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขายประกัน การกำหนดเงินเดือนคงที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของบำเหน็จตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 830 นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการตัวแทนมิใช่นายจ้างกับลูกจ้าง โจทก์เป็นตัวแทนขายประกันชีวิตของจำเลย มิใช่ลูกจ้างของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 สิงหาคม 2549 แล้วว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ถือว่าข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้ว ไม่มีประเด็นที่จะต้องนำสืบหักล้างอีก การสืบพยานในภายหลังถือเป็นการสืบพยานนอกประเด็น ที่ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังพยานหลักฐานที่ไม่เป็นประเด็นมาวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ประกอบมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาตัวการตัวแทนขายประกัน จึงมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ แม้โจทก์กับจำเลยจะแถลงรับข้อเท็จจริงกันในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 แต่ก็แถลงต่อไปว่าเป็นการจ้างกันตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน ดังนั้นสาระสำคัญของนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย จึงต้องพิจารณาทั้งจากข้อความที่แถลงด้วยวาจาและข้อสัญญาที่ทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษรประกอบกัน และถ้าปรากฏความขัดแย้งกันย่อมต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงเป็นสำคัญ เมื่ออ่านรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 24 สิงหาคม 2549 โดยรวมแล้ว จำเลยว่าจ้างโจทก์โดยอาศัยสาระสำคัญของข้อตกลงตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทน ดังนั้นที่ศาลแรงงานภาค 4 พิจารณาจากข้อสัญญาประกอบข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานจึงไม่ขัดแย้งกับรายงานกระบวนพิจารณาที่บันทึกไว้ ทั้งยังเป็นอำนาจของศาลแรงงานที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงมาใช้พิจารณาพิพากษาคดีให้เกิดความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรก็เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย โดยอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้โดยอนุโลมในกรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติไว้ ดังนั้นการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 มาใช้โดยอนุโลมย่อมไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจรับฟังพยานใดตามที่เห็นสมควรได้ ที่ศาลแรงงานภาค 4 รับฟังข้อเท็จจริงและพยานอื่นประกอบการวินิจฉัยประเด็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ จึงไม่เป็นการสืบพยานนอกประเด็น และไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบที่ศาลแรงงาน ภาค 4 วินิจฉัยว่านิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาแต่งตั้งตัวแทนขายประกันชีวิต มิใช่สัญญาจ้างแรงงานนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน