คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6861/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะผู้ร้องยื่นฎีกา ผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เนื่องจากศาลล่างมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นบิดาจะพ้นจากภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้เยาว์ ดังนั้นเมื่อศาลเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องอยู่ในภาวะที่สามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเองและได้รับการเตรียมความพร้อมให้มีทักษะในการเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างเหมาะสม การเข้ารับการตรวจประเมินกับแพทย์ทางจิตเวชถือเป็นการเข้ารับคำปรึกษาเพื่อให้ผู้ถูกร้องมีทัศนคติต่อตนเองและผู้เยาว์อย่างถูกต้อง ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้ถูกร้องไปรับการตรวจประเมินกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทักษะในการเลี้ยงดูบุตร โดยให้ผู้ถูกร้องอยู่ในกำกับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จึงนับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหญิง ช. เนื่องจากถูกผู้ถูกร้องซึ่งเป็นบิดากระทำทารุณกรรมทางร่างกายและจิตใจ โดยขอให้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 43 วรรคสอง ให้ผู้ถูกร้องให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับการตรวจประเมินกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ผู้ถูกร้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกับแพทย์ตามความเหมาะสม และเข้ารับการเปลี่ยนทักษะในการเลี้ยงดูบุตร โดยสอนบุตรในลักษณะที่สร้างสรรค์เพื่อไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อบุตร และมีคำสั่งห้ามผู้ถูกร้องเข้ามาคุกคามในระหว่างที่เด็กอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่
ผู้ถูกร้องยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหญิง ช. โดยให้ผู้ถูกร้องเข้ารับการตรวจประเมินกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ณ โรงพยาบาลของรัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทักษะในการเลี้ยงดูบุตรภายใน 15 วัน โดยให้ผู้ถูกร้องอยู่ในความกำกับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
ผู้ถูกร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน
ผู้ถูกร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาให้วินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกร้องว่า กรณีมีเหตุออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กหญิง ช. ผู้เยาว์โดยให้ผู้ถูกร้องเข้ารับการตรวจประเมินกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทักษะในการเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ โดยผู้ถูกร้องคงฎีกาโต้แย้งเพียงว่า ผู้ถูกร้องไม่เคยทำทารุณกรรมต่อผู้เยาว์ ภาวะซึมเศร้าและหวาดกลัวที่เกิดขึ้นแก่ผู้เยาว์เป็นเพราะการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐซึ่งพาผู้เยาว์ไปดูแลโดยไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎหมาย ไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกร้อง กรณีจึงมีปัญหาเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ถูกร้องกระทำทารุณกรรมผู้เยาว์ อันเป็นเหตุให้คุ้มครองสวัสดิภาพผู้เยาว์หรือไม่ ผู้ร้องมีนางสาวสุศิษฎา พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาเบิกความประกอบบันทึกข้อความ ซึ่งมีรายละเอียดของการรับแจ้งเหตุที่ผู้เยาว์หลบหนีออกจากบ้านและพบร่องรอยการถูกทำร้ายรวมทั้งสิ้นถึง 3 ครั้ง ผู้ถูกร้องก็รับว่าได้ลงโทษผู้เยาว์ด้วยการตีด้วยเข็มขัดจริง จนกระทั่งครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2552 ผู้เยาว์หนีออกจากบ้านและยังคงแจ้งว่าผู้ถูกร้องทำร้ายร่างกายอีกตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์โรงพยาบาลบางบัวทอง ซึ่งในครั้งหลังสุดนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งผู้เยาว์ให้แพทย์หญิงรัชนี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลศรีธัญญาเป็นผู้ตรวจร่างกายผู้เยาว์ โดยแพทย์หญิงรัชนีมาเบิกความเป็นพยานด้วยว่า ผู้เยาว์เล่าให้ฟังว่าถูกบิดาลงโทษโดยใช้หม้อหุงข้าวตีศีรษะและตัดผมเนื่องจากผู้เยาว์ไม่เอาไม้แขวนเสื้อออกจากตู้เสื้อผ้า สภาพจิตใจเด็กมีการซึมเศร้ารุนแรง มีอาการรักพ่อแต่กลัวพ่อจะทำร้ายและลงโทษอันเนื่องมาจากผู้เยาว์คิดว่าตนเองเป็นคนไม่ดี และครอบครัวไม่มีความสุข รายละเอียดปรากฏตามผลการตรวจวินิจฉัย ส่วนผู้ถูกร้องนำพยานมาไต่สวนได้ความว่า ผู้ถูกร้องเลี้ยงดูผู้เยาว์ด้วยความรัก ความอบอุ่นไม่เคยตีหรือกระทำทารุณกรรมผู้เยาว์และอ้างส่งบันทึกข้อความที่ผู้เยาว์เขียนขึ้นโดยมีข้อเท็จจริงต่างจากข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานผู้ร้องนั้น เห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และแพทย์หญิงรัชนีเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องสร้างเรื่องหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อให้ร้ายผู้ถูกร้องโดยเฉพาะลักษณะของคดีเป็นเรื่องภายในครอบครัว หากไม่มีปัญหาความรุนแรงที่หนักเกินกว่าบุคคลในครอบครัวจะแก้ไขดูแลกันเองได้แล้ว เชื่อว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่อาจล่วงรู้และไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องไม่ได้ร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เยาว์ทันทีเมื่อทราบเหตุว่าผู้เยาว์ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ได้มีการเรียกผู้ถูกร้องมาสอบถามเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ผู้เยาว์หลบหนีออกจากบ้านในสองครั้งก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาผู้ถูกร้องใช้ความรุนแรงแก่ผู้เยาว์ได้จนพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เยาว์เป็นคดีนี้ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบจึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของผู้ถูกร้อง ฟังได้ว่า เหตุที่ผู้เยาว์ต้องหลบหนีออกจากบ้านหลายครั้งเพราะผู้ถูกร้องใช้ความรุนแรงในการลงโทษผู้เยาว์เกินกว่าที่บิดาจะพึงอบรมสั่งสอนบุตรตามหน้าที่ธรรมจรรยาอันนำไปสู่การกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของผู้เยาว์ ถือได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำทารุณกรรมผู้เยาว์และมีพฤติการณ์ที่จะกระทำซ้ำอีกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (1) ประกอบมาตรา 43 วรรคสอง จริง ฎีกาของผู้ถูกร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
กรณีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ควรให้ผู้ถูกร้องเข้ารับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทักษะในการเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ โดยในส่วนนี้ผู้ถูกร้องฎีกาด้วยว่า หากฟังว่าผู้ถูกร้องกระทำผิด ขอให้ศาลยกคำร้องเพราะปัจจุบันผู้ถูกร้องมอบเด็กหญิงชิดชนกให้เข้ารับการอุปการะในสถานสงเคราะห์แล้ว นับตั้งแต่ผู้ถูกร้องรับทราบคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้น เห็นว่า แม้ปรากฏตามฎีกาของผู้ถูกร้องว่า ขณะผู้ถูกร้องยื่นฎีกาผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นบิดาจะพ้นจากภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการเป็นบิดาที่ดีของผู้เยาว์ในภายภาคหน้า โดยเมื่อศาลพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ปรากฏจากสำนวนคดีอย่างละเอียดแล้ว เชื่อว่าโดยแท้จริงผู้ถูกร้องเป็นผู้ที่รัก ห่วงใยและปรารถนาดีต่อผู้เยาว์อย่างที่สุดคนหนึ่ง แต่เพราะปัจจัยแวดล้อมไม่ว่าความรับผิดชอบในการทำงาน และภาระหน้าที่ภายในครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูบุตรผู้หญิงเพียงคนเดียวจึงอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ถูกร้องกับผู้เยาว์ ประกอบกับการขาดโอกาสสื่อสารทำความเข้าใจกันจนกระทั่งผู้เยาว์เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นมีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกร้องกับผู้เยาว์มีปัญหาและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ดังนี้ ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องอยู่ในภาวะที่สามารถแก้ไขได้เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวและได้รับการเตรียมความพร้อมให้มีทักษะในการเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างเหมาะสม ส่วนที่ผู้ถูกร้องอ้างด้วยว่า ผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เพื่อปรับพฤติกรรมให้ผู้เยาว์กลับไปอยู่กับครอบครัวได้อย่างปกติสุขหาใช่ต้องปรับพฤติกรรมของผู้ถูกร้องด้วยนั้น แม้ว่าการที่ผู้เยาว์อยู่ในสถานสงเคราะห์จะได้รับการปรับพฤติกรรมและคุ้มครองสวัสดิภาพในด้านอื่นๆ แต่ก็เป็นเฉพาะในส่วนของผู้เยาว์เท่านั้น แต่หากต้องการจะฟื้นฟูความสัมพันธ์และป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติต่อกันโดยไม่เหมาะสมระหว่างผู้ถูกร้องกับผู้เยาว์อีก จำต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกร้องซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวที่มีความใกล้ชิดและผูกพันกับผู้เยาว์ที่สุดด้วย ทั้งการเข้ารับการตรวจประเมินกับแพทย์ทางจิตเวช ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกร้องต้องเป็นบุคคลที่ผิดปกติทางจิต แต่เป็นการเข้ารับคำปรึกษาเพื่อให้ผู้ถูกร้องมีทัศนคติต่อตนเองและผู้เยาว์อย่างถูกต้อง ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้ถูกร้องไปรับการตรวจประเมินกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ณ โรงพยาบาลของรัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทักษะในการเลี้ยงดูบุตรภายใน 15 วัน โดยให้ผู้ถูกร้องอยู่ในความกำกับดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 นั้น เหมาะสมแก่คดีและเป็นประโยชน์แก่ทั้งผู้ถูกร้องและผู้เยาว์แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share