แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และ น. หย่ากันและเหตุที่ น. อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ น. หย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่าจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับ น. สามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายนพดล อยู่กินดัวยกันมาประมาณ 16 ปี มีบุตร 2 คน เมื่อต้นเดือนเมษายน 2554 โจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายนพดลและร่วมประเวณีกันเป็นอาจิณ โจทก์ฟ้องหย่านายนพดลต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ นายนพดลรับว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและร่วมประเวณีกับจำเลยจริง ศาลพิพากษาให้โจทก์และนายนพดลหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายได้รับความอับอายต่อหน้าที่การงาน อาชีพ ชื่อเสียง และการใช้ชีวิตประจำวันและเดือดร้อนทรมานจิตใจตลอดมา โจทก์ขอเรียกค่าทดแทนจากการเป็นชู้ของจำเลยเป็นค่าเสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้ได้รับความอับอายเป็นเงิน 400,000 บาท ค่าเสื่อมเสียสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ เป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าทดแทนเป็นเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นภริยาของนายนพดล จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน โจทก์ฟ้องหย่านายนพดลอ้างเหตุว่า นายนพดลมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลย และร่วมประเวณีกันเป็นอาจิณ ต่อมาโจทก์กับนายนพดลทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์และนายนพดลตกลงหย่าขาดจากกัน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 215/2554 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาโจทก์และนายนพดลจดทะเบียนหย่ากัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์กับนายนพดล สามีโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีที่โจทก์ฟ้องหย่ากัน การหย่ากันระหว่างโจทก์กับนายนภดลจึงถือได้ว่า ศาลพิพากษาให้หย่ากันด้วยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) แล้ว เมื่อจำเลยเป็นเหตุแห่งการหย่า โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้นั้น เห็นว่า ภริยามีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” ดังนั้น การที่โจทก์จะได้รับค่าทดแทนจากจำเลยได้ จึงต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์และนายนพดลหย่ากันและเหตุที่นายนพดลอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยฉันภริยา มีชู้ หรือร่วมประเวณีกับจำเลยเป็นอาจิณ เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับนายนพดลหย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมต่อศาล แม้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม การทำสัญญาประนีประนอมกันนั้นหาใช่การที่คู่ความยอมรับตามคำฟ้องและคำให้การกันไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้และแม้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง จะให้สิทธิภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามีโดยอาศัยเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์หาได้บรรยายฟ้องโดยอ้างพฤติการณ์ว่า จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับนายนพดลสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวไม่ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นที่โจทก์จะนำสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ